นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ เรื่องการออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติ แต่ขณะนี้ยังมีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ 16.1 ล้านคน คิดเป็น 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการออม
ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิก กอช. มีอยู่ 2.5 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าว มีสมาชิกที่ออมเงินต่อเนื่องจำนวน 5 แสนคน และในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีสมาชิกกอช. เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคน
ดึงมหาดไทย ให้ความรู้ชาวบ้าน
โดยกอช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมชน ให้ความรู้ชาวบ้านตระหนักถึงการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาให้ความสำคัญกับการออมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น
พร้อมทั้งปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก
"สมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม"
คลอดแผนยุทธศาสตร์ กอช.
ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไป กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของ กอช. และเสริมสร้างค่านิยมสังคมการออม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric) โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่กระตุ้นการออมสมาชิกเก่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช.
ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง โดยปรับปรุงกฎหมายและการบริหารเงินทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกและสร้างโอกาส ความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กรโดยเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและฐานข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยการพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ การส่งเสริมสมรรถนะภายในองค์กร รวมทั้งความสามารถรองรับการบริการในสภาวะวิกฤต ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล