สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 78.06 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 84.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.1 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรล
นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
ขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้ม (Restrictive Level) ต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่ระดับต่ำเท่ากับในช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
สัญญาน้ำมันยังถูกกดดันจากรายงานที่ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรียไม่ได้สร้างความเสียหายต่อท่อส่งน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทั้งสองประเทศซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 19,000 รายเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อท่อส่งน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐาน และอาจจะทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง