ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายกับ เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างภาวะสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่น่าจับตา แนวโน้ม เศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นนับตั้งแต่ ไตรมาสที่2ของปีนี้ เป็นต้นไป แต่จะรุนแรงมากแค่ไหน แต่ละประเทศต้องมีแผนรับมือ รวมถึงประเทศไทย
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้ว่าอำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) “ปาฐกถาพิเศษ” ในงานสัมมนาอนาคตประเทศไทย ECONOMIC DRIVES # เศรษฐกิจไทย…สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก จัดขึ้นโดย "POST TODAY" ว่า เศรษฐกิจไทยจะสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลกนั้น ซึ่งจากการประชุมในช่วงที่ผ่านมาหลายคนมองว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับ Poly Crisis ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่โลกจะต้องเดินหน้าไปได้ต่อเมื่อถูกทุบและลุกยืนขึ้นมาสู้ใหม่
ทั้งนี้สิ่งที่ไทยควรต้องการคือ Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งเรื่องวัฒนธรรม, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่, ดิจิทัลฯลฯ อีกทั้งด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ควรเดินหน้าอย่างเต็มที่ เนื่องจากส่วนใหญ่การระดมเงินจากต่างประเทศราว 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีการลงทุนที่อีอีซี
นายศุภชัย สะท้อนต่อว่า ที่ผ่านมาคิดว่าไทยถือเป็นเป็นแหล่งอาหารของโลก แต่ปัจจุบันได้รับรายงานจาก Economic Interigent Unit ว่า ไทยถูกลดอันดับอยู่ที่ 13 และตกอันดับที่ 5 ของแถบอาเซียน ในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร
มาจากการพิจารณาหมวดด้านความยั่งยืนทางอาหาร,ความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร ซึ่งเมื่อรวมค่าเฉลี่ยแล้วไทยต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ควรเร่งแก้ปัญหาว่าไทยจะทำอย่างไรให้สามารถกลับมาอยู่ในอันดับต้นๆ ได้
นอกจากนี้ด้านสาธารสุข ถึอว่าไทยแข็งแกร่งมาก โดยปัจจุบันไทยสามารถนำไลเซ่นมาผลิตยาที่สำคัญในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน WTO อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องนี้ โดยอยากไทยลงทุนในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น ทั้งนี้ไทยควรต่อสู้ในเวทีโลกให้มากขึ้น ที่ผ่านมาสีจิ้นผิง ผู้นำประเทศจีน ได้มีการประชุมในไทยโดยมีการนำเสนอเรื่อง RCEP ร่วมกับ CPPTT และ DAPA ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ชอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีการทำนายเศรษฐกิจโลกในปีค.ศ. 2022 ว่า เศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิม แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้กลับพบว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่แย่ลงกว่าเดิม แต่ปัญหาที่มีการเกิดโรคอุบัติใหม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและสังคมโลก โดยในปี ค.ศ.2022 เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
คือประเทศรัสเซียมีการบุกรุกเข้าประเทศยูเครนจนเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดได้เมื่อไร ในทุก2-3 ปี ที่ผ่านมามักจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดต่อเนื่อง ทำให้หลายคนมองว่าภายในปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะต้องล่มสลายอีกแน่นอน
เพราะเหตุการณ์ต่างๆสอดคล้องไปกับทิศทางของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวและยังไม่ฟื้น อีกทั้งการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงทุกปี ฯลฯ
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสหประชาชาติ (UN) มีการมุ่งเน้นในเรื่อง Sustainable การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาใด ๆ ที่ไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเสียหายและเกิดการ เสื่อมโทรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและคน ฯลฯ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ
หลายคนพยายามสร้างบรรยากาศในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ. 2023 ให้ดูดีขึ้น โดยมุ่งเน้นทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1. จีนมีการเปิดประเทศ หลังจากที่มีนโยบายซีโร่โควิดมาหลายปี โดยปัจจุบันจีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านซับพลายเชนอย่างต่อเนื่อง ที่สร้างผลกระทบต่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยผู้นำจีนมีการประกาศว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถโตได้ถึง 5.5% จากเดิมที่ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจจีนโตราว 3% หากสามารถทำได้ เชื่อว่าจะเป็นข่าวดีทั่วโลก
2.ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่เพราะธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% แต่เป็นเพราะเรื่องพลังงาน ปัจจุบันพบว่าราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 78 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะราคาแก๊สลดลงจากเดิมอยู่ที่ 80% แต่พบว่าทางยุโรปมีการกดราคานํ้ามันนํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ไม่เกิน 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ที่รัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานลดลงมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ความตึงเครียดด้านพลังงานลดลงไป
3.สหรัฐได้ผลักดันโครงการอุดหนุนพลังงานของสหรัฐจากกฎหมายสหรัฐฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Inflation Reduction Act โดยการออกกำหมายในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งมหาศาลราว 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
เพื่อนำงบประมาณไปอุดหนุนการผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกได้รับอานิสงส์ที่ดีด้วย หากเทียบปัญหาในเอเชียและยุโรป มองว่าเป็นปัญหาที่เล็กน้อยกว่ามาก เพราะไม่มีเรื่องสงคราม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ การรับมือจากปัญหาความตึงเครียดต่างๆที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามนโยบายทางการเงินของไทยในปีนี้มองว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่เห็นด้วยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป
ไม่ควรเดินหน้าตามสหรัฐที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาสหรัฐมีการอัดฉีดงบประมาณเป็นจำนวนมากในช่วงที่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ทำให้มีการดูดเงินกลับไปได้เต็มที่
ขณะที่ไทยมีความจำเป็นมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากเดิมที่นำนโยบายทางการเงินไปกดดันให้เศรษฐกิจเกิดภาวะตึงตัวขึ้นไปอีก ควรหาแนวทางผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆในด้านการลงทุน เมื่อมีคนลงทุนมากขึ้น ทำให้ปัญหาการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะชะลอตัวลง อีกทั้งการที่มีนโยบายทางการเงินแก้ปัญหาหนี้กลุ่ม SME ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้กลุ่ม SME สามารถฟื้นกลับมาได้
ทั้งนี้ ศุภชัย ย้ำว่า หากจะใช้นโยบายทางการเงินควรเป็นการส่งเสริมการลงทุนใหม่ได้ ซึ่งยังพบว่าการลงทุนใหม่ในไทยยังค่อนข้างฝืดมาก ที่ผ่านมาไทยเคยมีการลงทุนในประเทศราว 30-40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะนี้มีการลงทุนราว 15% ของรายได้ประชาชาติในไทย ซึ่งน้อยมาก เราควรลงทุนให้ได้ถึง 20% เพื่อให้เกิดการพัฒนาและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี
ที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันว่า สิ่งที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต คือความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศมีความจำเป็นมากทั้งภาคส่งออกที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาตนเอง ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศพบว่าไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งมีผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรในปัจจุบัน อีกทั้งในระยะต่อไปผู้คนในวัยทำงานจะลดลง แต่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่จะต้องใช้งบประมาณมาช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการต่างๆ เราควรสร้างการกระตุ้นอย่างรุนแรงทั้งคนทำงานในการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วที่สุด ส่วนผู้สูงอายุควรทำให้เขามีสุขภาพดีที่สุดสามารถทำงานเพื่อยึดอายุการเกษียณออกไปได้อย่างต่อเนื่อง