ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้ว่าอำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยในงานสัมมนาอนาคตประเทศไทย (ECONOMIC DRIVES) เศรษฐกิจไทย…สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก ว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ไทยเพิ่งฟื้นจากไข้ภายในประเทศในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 จากเศรษฐกิจการเงินที่เกิดวิกฤติการณ์ในเอเชีย
ขณะเดียวกันในปีค.ศ. 2000 ยังเกิดวิกฤตฟองสบู่ ทำให้เกิดผลกระทบทั่วโลก รวมทั้งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากจนเกินไป
ขณะที่ 10 ปีต่อมาหลังจากนั้น ในปีค.ศ. 2009 ยังพบการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ในสหรัฐจากการเปิดตลาดเสรีโดยที่ไม่มีขอบเขตในสหรัฐที่นำไปสู่วิกฤต Supply crisis ที่กระทบทั่วโลก เนื่องจากมีการเปิดตลาดดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอในการผ่อนภาระเพื่อกู้ซื้อบ้าน โดยให้สถาบันการเงินออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ทั้งที่ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า ในปี ค.ศ. 2018-2020 กลับมาเจอปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ในยุคสมัยใหม่ที่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกโลกาภิวัฒน์ที่มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ส่งผลให้กระบวนการเชื่อมทั้งโลก แทบจะไม่สามารถบังคับหรือแก้ไขได้
“เราเกือบทำนายเหตุการณ์ของโลกแต่ละครั้งไม่ค่อยได้ หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ในสหรัฐ น้อยมากที่มีนักเศรษฐศาสตร์จะสามารถทำนายได้ว่าแต่ละปีจะเกิดปัญหาหรือวิฤตเศรษฐกิจใดบ้าง”
ขณะที่ IMF มีการทำนายเศรษฐกิจโลกในปีค.ศ. 2022 ว่า เศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิม แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้กลับพบว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่แย่ลงกว่าเดิม แต่ปัญหาที่มีการเกิดโรคอุบัติใหม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและสังคมโลก โดยในปี ค.ศ.2022 เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง คือประเทศรัสเซียมีการบุกรุกเข้าประเทศยูเครนจนเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดได้เมื่อไร
ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยจะสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลกนั้น ซึ่งจากการประชุมในช่วงที่ผ่านมาหลายคนมองว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช้เป็นเพียงเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่โลกจะต้องเดินหน้าไปได้ต่อเมื่อถูกทุบและลุกยืนขึ้นมาสู้ใหม่
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสหประชาชาติ (UN) มีการมุ่งเน้นในเรื่อง Sustainable ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและคน ฯลฯ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว สิ่งที่หลายคนพยายามสร้างบรรยากาศในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ. 2023 ให้ดูดีขึ้น โดยมุ่งเน้นทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1. จีนมีการเปิดประเทศ หลังจากที่มีนโยบายซีโร่โควิดมาหลายปี โดยปัจจุบันจีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านซับพลายเชนอย่างต่อเนื่อง ที่สร้างผลกระทบต่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยผู้นำจีนมีการประกาศว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถโตได้ถึง 5.5% จากเดิมที่ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจจีนโตราว 3% หากสามารถทำได้ เชื่อว่าจะเป็นข่าวดีทั่วโลก
2. ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่เพราะธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% แต่เป็นเพราะเรื่องพลังงาน ปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 78 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ราคาแก๊สลดลงจากเดิมอยู่ที่ 80% แต่พบว่าทางยุโรปมีการกดราคาน้ำมันน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ไม่เกิน 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ที่รัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานลดลงมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ความตึงเครียดด้านพลังงานลดลงไป
3. สหรัฐได้ผลักดันโครงการอุดหนุนพลังงานของสหรัฐจากกฎหมายสหรัฐฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Inflation Reduction Act โดยการออกกำหมายในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งมหาศาลราว 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพื่อนำงบประมาณไปอุดหนุนการผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกได้รับอานิสงส์ที่ดีด้วย