การแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ส่งผลให้สัญญาทองคำร่วงลงรุนแรงถึง 54.2 ดอลลาร์ หรือ 2.81% สู่ระดับ 1,876.6 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทองคำ โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
“ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปวิเคราะห์เจาะลึกทิศทางราคาทองคำกับ “วรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท จินฮั้วเฮง จำกัด ทายาทรุ่น 2 ของ “จินฮั้วเฮง” ที่มีนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำหลายสมัย ผู้เป็นพ่อได้บุกเบิกก่อร่างสร้าง “ห้างทองจินฮั้วเฮง” ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 42 ในวงการค้าทองคำ
“วรชัย”ระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำในประเทศที่เปิดตลาดแพงกว่าราคา spot หลังการปรับฐานลงของราคาทองคำเมื่อคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากราคาทองวิ่งขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าจาก การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง
“เฟดขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ที่ประมาณ 7.5% หากอัตราเงินเฟ้อลงมาแตะ 2% เฟดคงจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5% ซึ่งคาดว่าช่วงหลังเดือนมีนาคมอาจจะเห็นราคาทองคำอยู่ที่ประมาณ 31,500 บาท แต่ยังต้องจับตาค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อหรือไม่”นายวรชัยกล่าว
ทั้งนี้ ราคาทองคำที่ 31,500 บาทนั้นคาดการณ์บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ ราคา Spot อยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยต้องรอดูว่า การประชุมของเฟดในรอบถัดไปคือเดือนมีนาคม ถ้าเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำจะปรับขึ้น ในทางกลับกันหากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกแนวโน้มราคาทองคำจะลดลงได้
“วรชัย” บุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คนพี่น้องของครอบครัว “ตั้งสิทธิ์ภักดี” ซึ่งส่วนใหญ่ร้านค้าทองคำเป็นธุรกิจครอบครัว ตัวแทนเจ้าของดูแลเองทั้งด้านการเงิน สต๊อก เช่น “จินฮั้วเฮง” ก็เติบโตมาจนมี 3 สาขาแต่ปัจจุบันคงเหลือสาขาเยาวราช และเจริญกรุง ส่วนสาขาเดิมปัจจุบันถูกเวนคืนเป็นสถานีมังกรของรถไฟฟ้า BTS
“วรชัย” เล่าว่า ปี 2566 “จินฮั้วเฮง” ก้าวสู่ปีที่ 43 ด้วย KEY SUCCESS ของการสานต่อนโยบาย “เต็มเปอร์เซ็นต์เวลาซื้อเต็มราคาเวลาขาย” ซึ่งความท้าทายของการทำธุรกิจค้าทองคำอยู่ที่การซื้อขายทองคำจะเน้นการชำระเป็นเงินสด ดังนั้นบริษัทหรือร้านค้าทองส่วนใหญ่ต้องเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอ เพื่อรองรับกับช่วงที่ราคาทองคำเหวี่ยงหรือผันผวน เพราะหากไม่มีสภาพคล่องลูกค้าอาจจะขาดความเชื่อมั่นได้
นอกจากนั้นยี่ห้อ แบรนด์และชื่อเสี่ยงก็มีส่วนจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าซื้อทองคำไปแล้วไม่ว่า รูปพรรณหรือทองคำแท่งสามารถขายที่อื่นได้เรียกว่ามีสภาพคล่องเช่นกัน
ส่วนตัว “วรชัย” มีความรู้ทั้งทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง ปัจจุบันยังนั่งเป็นกรรมการของบริษัททีจี โกลบุลเลี่ยน ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์นักลงทุนหรือเทรดทองออนไลน์หรือโกลฟิวเจอร์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะเทรดโดยไม่รับทองเมื่อชำระราคาแล้ว แต่เมื่อราคาปรับขึ้นก็สามารถขายและโอนทางคืนให้เข้าของบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ต้องมีสาขาและสามารถซื้อขายเรียลไทม์ โดยไม่เสียโอกาสหากราคาทองปรับเปลี่ยนในเวลากลางคืน
ขณะที่ “จินฮั้วเฮง” เป็นหน้าร้านขายทองแท่งและรูปพรรณ ปัจจุบันมีสมาชิกร้านทองตู้แดงนับพันรายที่ใช้บริการมาต่อเนื่อง นอกจากลูกค้ารายย่อยแล้ว
“วรชัย” เล่าย้อนไปช่วงปี 2543 ว่ารัฐบาลยุค ดร.อำนวย วีรวรรณ ได้ยกเลิกภาษีทองคำจาก 10%เหลือ 0% จึงได้เข้าร่วมกับเพื่อนในวงการค้าทองทำธุรกิจนำเข้าทองคำในนามบริษัทโกลบุลเลี่ยน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งยุคนั้น ราคาทองวิ่งอยู่ที่ 5,500 บาท โดยทำธุรกิจนำเข้าทองคำอยู่ 7 ปี ราคาทองคำขยับแตะ 13,500 บาท ธุรกิจนำเข้าเริ่มมีผู้แข่งขันเกิดขึ้นในตลาด 2-3 ราย
“การแข่งขันเริ่มเข้ามาปลายปี 2550 เมื่อทุกคนรู้ราคา ต่างก็แข่งขันหั่นราคาคือ ทุกคนรู้ราคา Spot รู้อัตราแลกเปลี่ยน จึงเสี่ยงวัดดวงกับราคาตลาดและเสี่ยงกับการขาดทุน ประกอบกับช่วงนั้นราคาทองคำผันผวนวิ่งปีละ 2,000-3,000 บาท จึงเลิกบริษัทไป
ต่อมาเพื่อนกลุ่มเดิมชวนกันทำธุรกิจทองออนไลน์จึงเป็นที่มาของ “บริษัท ทีจี โกลบุลเลี่ยนกับฟิวเจอร์” เพราะเมื่อก่อนร้านทองตู้แดงจะเปิดเฉพาะกลางวัน ถ้ารอตู้แดงเขาไม่รับออเดอร์ แต่ทีจีโกลบุลเลี่ยนกับฟิวเจอร์ จะตอบโจทย์ลูกค้าเทรดทองตอนกลางคืน
“ช่วงนั้นเทรดทองออนไลน์ได้รับความนิยมมาก แต่หลังเกิดเหตูราคาทองคำร่วงปี2554 ลูกค้าที่สั่งออเดอร์ไม่มารับทองคำ เพราะราคาตก ทำให้ร้านค้าที่ไม่มีวงเงินค้ำประกัน “บาดเจ็บ” จากนั้นมาถึงปัจจุบันจึงต้องเรียกวงเงินค้ำประกันก่อนเทรด” วรชัยระบุ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,861 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566