นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนธ.ค.2565 มีมูลค่า 521.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.41% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 568.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 31.97% และยอดส่งออกรวมทั้งปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,987.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.54% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 15,057.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.82%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 2565 เติบโตได้ดี มาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ทำให้การผลิตของโลกและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และช่วงกลางปี มีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และยังได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น เป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่เริ่มส่งผลต่อการค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญในปี 2565 ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 21.51% อินเดีย เพิ่ม 74.38% ฮ่องกง เพิ่ม 16.26% เยอรมนี เพิ่ม 1.03% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 30.79% สิงคโปร์ เพิ่ม 142.93% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 79.80% เบลเยี่ยม เพิ่ม 31.13% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 27.96% และญี่ปุ่น เพิ่ม 4.44%
ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 45.18% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 1.18% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 9.72% เพชรก้อน เพิ่ม 1.99% เพชรเจียระไน เพิ่ม 41.88% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 89.65% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 64.32% พลอยก้อน เพิ่ม 50.42% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 17.32% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 15.54%
และทองคำ เพิ่ม 82.03% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไทยมีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น มาจากความต้องการทองคำในตลาดโลก และธนาคารกลางทั่วโลกได้ถือครองทองคำเพิ่มขึ้นจำนวน 1,136 ตัน มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักยังเชื่อว่าทองคำในปี 2566 จะยังเป็นขาขึ้น และมีการถือทองคำเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2566 ยังคงต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังคงมีอยู่ ปัญหาราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่หลายประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเริ่มชัดเจนในปี 2566 ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ตลาดทางฝั่งเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียน จะยังเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และอียู จะต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นเจาะตลาดด้วยดีไซน์ที่ตรงใจและงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้จุดขายการรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และต้องมองหาโอกาสจากตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน จะเป็นอีกช่องทางให้ธุรกิจไปต่อได้ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้