วาเลนไทน์ปีนี้กลับมาคึกคัก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ชี้ผลสำรวจ จะมีเม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ชาวสวนในพื้นที่บ้านเจดีย์โค๊ะ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ให้คนงานเร่งเก็บดอกกุหลาบ ก่อนจะนำไปแช่น้ำและเตรียมห่อกระดาษ เพื่อเร่งส่งให้ลูกค้าที่ปากคลองตลาด กทม. และเตรียมรับเทศกาลวันเลนไทน์ ที่จะถึงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นี้
โดยปีนี้มียอดสั่งดอกกุหลาบเพิ่มขึ้น เจ้าของสวนกุหลาบเริ่มมีลูกค้าสั่งจองมาแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อมีออเดอร์ หรือการสั่งซื้อมามาก ราคาก็เริ่มสูงขึ้น เช่น ราคาดอกกุหลาบ เกรดเอ. สูงถึงดอกละ 8 ถึง 9 บาท ถ้าเกรดปานกลาง ก็จะลดลงมา ขึ้นอยู่กับการตกลงซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
นายภราดร กานดา ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เกษตรกรเจ้าของไร่ปฐมเพชร อ.พบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่การปลูกไร่กุหลาบแดง อ.พบพระ จ.ตาก ได้ลดน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ ได้หันไปปลูกพืชสวนผลไม้ทดแทน จากเดิมพื้นที่ที่เคยปลูกไร่กุหลาบนั้นมีมากกว่า 5,000 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงพัน 1,000 กว่าไร่ เท่านั้น เกษตรมองว่าการปลูกสวนผลไม้จะมีรายได้มากกว่า
ด้านนายทวีทรัพย์ พูนวสินมงคล เกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ หมู่ที่ 3 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรรอยต่อ อ พบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้กุหลาบราคาดี แต่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงโควิด-19 ราคาไม่ดี ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในช่วงวาเลนไทน์นี้ตนเองตัดกุหลาบส่งปากคลองตลาด กทม. เท่านั้น ไม่ได้ไปส่งตลาดต่างจังหวัดอื่น ทั้งนี้ แม้ว่าวันนี้ราคาดี แต่อนาคตไม่แน่นอน
นางสาวชวิศา สุริยา เกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก กล่าวว่า อำเภอพบพระเป็นแหล่งใหญ่ของการปลูกดอกกุหลาบ ที่ส่งไปปากคลองตลาด กทม. และเกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ช่วงโลกร้อนก่อนโควิด-19 และมาพบปัญหาปุ๋ยยาแพง กับแมลง
แต่ที่หนักที่สุดคือช่วงโควิด ทำให้ผู้ปลูกดอกกุหลาบพบพระหายไปกว่า 1,500 ราย จากเดิม ประมาณ 3,000 ราย เพราะไม่สามารถอยู่ได้ แต่ขณะนี้เริ่มกลับมาดี มีรายใหม่เข้ามาปลูก แม้นว่าการทำสวนกุหลาบจะเป็นงานปราบเซียนก็ตาม แต่คงเห็นรายเก่าปลูกแล้วได้ราคาดี ผู้ปลูกรายใหม่จึงปลูกบ้าง