“ประสาร” เผย 4 ปัจจัยผู้บริหาร บจ.ไทยต้องรู้ในปี 66 แนะปรับตัวตามเทรนด์ ESG

15 ก.พ. 2566 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 05:43 น.

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เผย 4 ปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้ทันเวลา ที่ผู้บริหาร บจ.ไทยต้องรู้ในปี 66 แนะปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง ESG ชี้เป็นปีแห่งความท้าทายของผู้นำองค์กร

วันนี้ (15 ก.พ. 66) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดสัมมนา “SET Sustainability Forum” ประจำปี2566 โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ เจาะประเด็นแนวโน้มด้านความยั่งยืน หรือ ESG Trends ที่จะส่งผลกระทบต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และการลงทุน พร้อมเปิดเทรนด์ปี 2566 ชี้ 4 ปัจจัยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทยต้องรู้ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงด้าน ESG 

4 ปัจจัยประกอบด้วย

การปรับตัวของภาครัฐในมิติสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากประชุม COP26/COP27 ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ความสำคัญของข้อมูล ESG ต่อผู้ลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของผู้ลงทุนทั่วโลก

ความเสี่ยงด้าน ESG ที่ผู้นำทุกภาคส่วนควรรู้และให้ความสำคัญ ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับตัวของธุรกิจ บทบาทของคณะกรรมการ การนำเครื่องมือมาใช้ประเมินความเสี่ยง รวมถึงมุมมองจากผู้ลงทุนสถาบัน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Sustainability Transformation – the Real Test for Leadership” ว่า ในปี 2566 เป็นปีที่ภาคธุรกิจไทยต้องการภาวะผู้นำมากที่สุด เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรุนแรงซับซ้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องและใกล้ตัวเข้ามาทุกที ซึ่งประเทศไทยยังมีศักยภาพ และข้อได้เปรียบ หากไม่เร่งปรับตัวจะเสียโอกาส แลัขีดความสามารถในการแข่งขัน 

ภาพประกอบ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้ทันเวลา คือ ผู้นำองค์กรต้องเป็นผู้นำที่มององค์รวม คือ ทั้ง E, S และ G ผู้นำที่พร้อมลงมือทำสามารถนำพาองค์กรเรียนรู้เท่าทันโลก และสามารถทำงานกับทุกฝ่าย เพื่อสานพลังพลิกสถานการณ์หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม

“บททดสอบของผู้นำที่แท้จริง ณ ทางแยกที่เราต่างเผชิญร่วมกันอยู่ในวันนี้ ทางหนึ่งคือ Business as Usual หรือคิดว่า อีกตั้งหลายบริษัทก็ยังไม่ได้เริ่ม เราก็ยังไม่ต้องทำหรอก หรือเราจะเป็นผู้นำที่เล็งเห็นว่า จริงๆ แล้ว บริษัทเราลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานลงได้อีกมาก บริษัทเราช่วยสังคมพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพได้ผ่านสวัสดิการพนักงานที่ดูแลไปจนถึงลูกเขาในช่วงอายุต่างๆ” นายประสาร กล่าว 

ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญ และดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ อัปเดตทิศทาง ESG Trends และสร้างเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในตลาดทุน และที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งสร้างเครื่องมือด้าน ESG เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ