กอบศักดิ์ เผย เศรษฐกิจโลกผ่านมรสุมไปแล้ว จับตาเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก

01 มี.ค. 2566 | 03:06 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2566 | 04:13 น.

ปีที่แล้วโลกประสบกับ Perfect Storm ที่ทิ้งความเสียหายให้เศรษฐกิจโลก เข้าสู่ปีที่ 2 แม้มรสุมลูกใหญ่ผ่านไปแล้ว แต่ปีนี้ยังคงมีความท้าทายแก่บรรดานักลงทุน โดยเฉพาะสหรัฐที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจโลก คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายรอบเพื่อสู้เงินเฟ้อ

เริ่มแล้วสำหรับหลักสูตร Wealth Of Wisdom : WOW รุ่นที่ 2 ภายใต้แนวคิด ขุมทรัพย์แห่งปัญญา วิถีแห่งการลงทุน จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ฐานเศรษฐกิจ  เมื่อเย็นวานนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2566) มีพิธีเปิดอบรมและปฐมนิเทศ ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ มีบรรดานักลงทุน และนักธุรกิจจากหลากหลายวงการ มาเข้าร่วมจำนวนมาก

คุณฉาย บุนนาค ในฐานะประธานหลักสูตร ได้ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม โดยระบุว่า หลักสูตรนี้จะช่วยติดอาวุธทางความคิด และสร้างเสริมสติปัญญา  ตลอดการอบรมในหลักสูตรนี้ จะมีบรรดาวิทยากรที่มาให้ความรู้ด้านต่างๆ  ซึ่งคณะกรรมการหลักสูตรเฟ้นหามาอย่างพิถีพิถัน 

กอบศักดิ์ เผย เศรษฐกิจโลกผ่านมรสุมไปแล้ว จับตาเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก

ไฮไลท์จากงานเปิดอบรมหลักสูตร คือ "ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ Keynote Speaker ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “พลิกโอกาสตลาดทุนไทย 2023” 

ดร.กอบศักดิ์ เผยว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกจากปีที่แล้ว ทำให้การลงทุนของนักลงทุนไม่ง่าย ปี 2023 จึงเป็นปีแห่งการลงทุนแต่ต้องหาจังหวะให้ดี สิ่งที่เราประสบมาปีที่แล้ว จะทำให้เรามีประสบการณ์ เราจึงต้องมีโรดแมปในการลงทุน 

ปีที่แล้วถือเป็นมรสุมแห่งการลงทุน เศรษฐกิจประสบกับ "Perfect Storm" ที่ทิ้งความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่มรสุมผ่านไปแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 2  ที่เหมือนช่วงน้ำท่วมขังรออการระบาย โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อทั่วโลกกำลังลดลง เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย  แต่คาดว่ากลางปีนี้เป็นต้นไปดอกเบี้ยจะขึ้นสูงสุด และไปลงกลางปี 2024

กอบศักดิ์ เผย เศรษฐกิจโลกผ่านมรสุมไปแล้ว จับตาเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก
ปี 2022 ปีแรกของวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาน้ำมัน ราคาโลหะ ราคาอาหาร ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนอย่างหนัก ทั้งหุ้น และสินทรัพย์ดิจิตัล ราคาตกลง 70% ตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับพันธบัตรที่ราคาขึ้นต่อเนื่อง 

จับตาเฟดสหรัฐ ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

ดร.กอบศักดิ์ ระบุ หลังจากนี้สิ่งที่ต้องจับตา คือเงินเฟ้อสหรัฐ เพราะเป็นหัวใจของความสำเร็จในการลงทุน โดยให้จับตาราคาสินค้า บ้าน และบริการในสหรัฐ ซึ่ง 2 ส่วนแรกราคาน่าจะลง แต่บริการซึ่งมีสัดส่วน 55% ของเงินเฟ้อสหรัฐ น่าจะลงยาก ถ้าเงินเฟ้อไม่จบ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดก็จะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ทำให้ตลาดจะยังผันผวน

ปีนี้คาดว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง อย่างน้อย 0.75% โดยล่าสุดเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ไปอยู่ที่ 4.5-4.7% คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในอัตราที่เหมาะสม แต่เท่าไรคงคาดเดาได้ยาก แต่การประชุมรอบต่อไป จะมีอัตราเร่งลดลง จากขึ้น 0.75% ลงมาเป็น 0.5% จนกระทั่งขึ้นทีละ 0.25% ไปเรือยๆ

ในอดีตเงินเฟ้อน้อยกว่านี้แต่เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 17 ครั้ง

ผลการประชุมเฟดเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีนัยยะว่า สหรัฐจะยังทำสงครามกับเงินเฟ้อต่อไป และยังจำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพราะหากการขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไป จะทำให้การต่อสู้เงินเฟ้อที่ลดลงสำเร็จที่ผ่านมาล้มเหลว และในอดีตเฟดเคยขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันได้ถึง 17 ครั้งในช่วงปี 2004-2005 เงินเฟ้อในอดีตไม่สูงเท่าปัจจุบัน เฟดยังขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 6% แต่วิกฤติเงินเฟ้อรอบนี้หนักหนากว่า เชื่อว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่าตอนนี้เยอะ เพื่อเป้าหมายกดเงินเฟ้อลงให้เหลือ 2%


กอบศักดิ์ เผย เศรษฐกิจโลกผ่านมรสุมไปแล้ว จับตาเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก  

 

เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ เพราะมีการท่องเที่ยวช่วยพยุง

สำหรับเศรษฐกิจไทยล่าสุด ดร.กอบศักดิ์ เผยว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ จีดีพี อาจไม่ขยายตัวอย่างที่คิด เพราะตัวเลขส่งออกติดลบต่อเนื่อง มีผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปด้วย เรียกได้ว่าเราเข้าสู่วิกฤติเฟสที่ 2 เรียบร้อย  ที่เราเห็นว่าเศรษฐกิจยังไปได้ดี เพราะมีการท่องเที่ยวที่พยุงไว้ ทุกอย่างดูภายนอกเหมือนจะดีแต่ถ้าเราไม่มีการท่องเที่ยวมาช่วย เราอาจจะเเย่

ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อในไทย ถือว่าไม่มีปัญหาเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยจะปรับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายได้ในไตรมาส 3 เพราะฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไทย ไม่เหมือนกับของเฟดสหรัฐ เราไม่ต้องเหยียบคันเร่งแต่ให้เป็นไปตามเเรงโน้มถ่วง  คาดว่าปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงกลางปี 66 ไปอยู่ที่ 2% แล้วหลังจากนั้น ค่อยมาพิจารณาตัวเลขการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เงินบาทไทยไม่ใช่ "Safe heaven" ของนักลงทุนอีกต่อไป

ด้าน ค่าเงินบาทไทย ดร.กอบศักดิ์อธิบายว่า ตั้งแต่ ปลาย ตค.เป็นต้นมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 14% ปัจจัยจากการเปิดประเทศ การท่องเที่ยว ปัจจุบัน ค่าเงินบาทถือว่าสูงกว่าหลายสกุลเงิน แต่เยังผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีเงินสำรองต่างประเทศสูง เพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนได้

อีกปัจจัยที่เงินบาทแข็งค่าเพราะนักลงทุนมองว่า ตลาดหุ้นไทยคือ "Safe heaven" ในช่วงปีที่ผ่านมาเงินไหลเข้า แต่ปีนี้ไหลออกเช่นเดียวกับพันธบัตร เพราะนักลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้ Safe heaven อีกต่อไป

ชี้ลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศน่าสนใจ

ดร.กอบศักดิ์ เผย ตลาดหุ้นต่างประเทศ คาดว่าน่าจะฟื้นตั้งแต่ปีนี้ แนะนำให้นักลงทุนเข้าลงทุนหุ้นพื้นฐานดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี  แม้อาจไม่สามารถซื้อในราคาต่ำสุด แต่จะได้ผลตอบแทนในระยะยาว 40-50% เพราะปกติเศรษฐกิจถดถอยหุ้นตก 20-30% แต่ผลตอบแทนปีนี้ขึ้น 50% สามารถเริ่มกลับมาลงทุนปีนี้ได้

ดร.กอบศักดิ์ ยังทิ้งท้ายถึงอีกอีกปัจจัยเสี่ยงตลาดทุนไทยที่ต้องจับตา นั่นคือ การเมือง การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และการจัดตั้งรัฐบาลอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ ความผันผวนทั้งหมด คือโอกาสในการลงทุน