ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานเปิดตัวหลักสูตร WEALTH OF WISDOM : WOW#2 ที่จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" และ "กรุงเทพธุรกิจ" ในหัวข้อ "พลิกโอกาสตลาดทุนไทย 2023" ว่า ปี 2566 (ค.ศ.2023) เป็นปีแห่งการลงทุน เพียงแต่ว่าต้องหาจังหวะนั้นให้เจอ และไม่ต้องมองหาหุ้นในประเทศไทย เพราะปีก่อนหุ้นไทยตกไม่เยอะ โอกาสการลงทุนไม่ได้อยู่ที่ไทย และขณะนี้ก็โชคดี ที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้โดยตรง ตอนนี้อยู่ที่นักลงทุนที่ต้องหาโอกาสและจังหวะให้เจอ
สถานการณ์การลงทุนโลก ตอนนี้มองที่ว่า กำลังผ่านวิกฤต Perfect Storm ระยะเวลา 3 ปี (ปีพ.ศ. 2565-2567) ปี 2565 เป็นปีแรก และเป็นปีของมรสุมการลงทุน สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง ความผันผวน เป็นปีปราบเซียน แต่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปี 2566 เป็นปีที่ 2 ที่กำลังเข้าสู่เงินเฟ้อ ที่แนวโน้มเงินเฟ้ออาจจะยังเพิ่มได้อีกระยะหนึ่ง แล้วจะเริ่มลดลง เฟดเริ่มสู้ภาวะเงินเฟ้อ เกิดเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตประเทศเกิดใหม่ ส่วนปี 2567 เป็นปีที่ 3 เริ่มลดดอกเบี้ย กลางปี 2567 จะลดดอกเบี้ย ทองและหุ้นมีจุดวกกลับ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะจบอย่างไร
ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คาดว่าเงินเฟ้ออาจจะยังปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้อีกระยะหนึ่ง รับกับสัญญาณเฟดว่าปี 66 จะขึ้นดอกเบี้ยอีก อย่างน้อย 0.75% หรือเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับปกติ 0.25% ไปเรื่อยๆ และขึ้นต่อได้เท่าที่จำเป็น จากล่าสุดอยู่ที่ 4.5-4.75% คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐล่าสุด ขึ้นไปแล้ว 0.25% เมื่อ 1 ก.พ.2566 คาดว่าจะขึ้นอีก 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ( 22 มี.ค., 3 พ.ค. 14 มิ.ย.)
เนื่องจากรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 1 ก.พ. 2566 ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เฟดจะสู้ศึกเงินเฟ้อต่อจนเอาเงินเฟ้อกลับลงมาที่เป้าหมาย 2% ให้ได้ ซึ่งในอดีตเฟดเคยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถึง 17 ครั้ง ไปสู่ระดับ 4% ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ราว 3 ครั้ง มองว่าอาจเป็น 5-6 ครั้งก็ได้ และหลังจากนั้นจะคงดอกเบี้ยไปประมาณอย่างน้อย 11 เดือน เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลง จะเริ่มลดดอกเบี้ย
ปีนี้จะมีผลกระทบปีที่ 2 (ปี 2566) มรสุมลงแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขัง ขึ้นกับการขึ้นดอกเบี้ยเฟด และกระทบกับเศรษฐกิจมากที่สุด ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ ปีนี้ 2.7% ในรอบ 12 เดือนประมาณการณ์ เพิ่มขึ้นในปีนี้ น่าจะเป็นจุดต่ำสุด แต่ก็ดีกว่าที่คาด
ปัจจัยที่กระทบต่อการลงทุนมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. เศรษฐกิจซบ ถดถอยในบางประเทศ ส่งออกของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง หากส่งออกชะลอตัวลง ยอมส่งผลกระทบต่อเนื่อง เศรษฐกิจถดถอย จะเกิดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ลาติน แต่สำหรับ เอเชีย มองว่าจะผ่านไปได้ เพราะในจังหวะที่ โลกชะลอลง จีนจะกลับมาในจังหวะที่เหมาะสม หลังจากจีนจัดการให้โควิดจบและกลับมาเปิดประเทศเร็วขึ้น คาดว่าตั้งแต่เดือนมี.ค.2566 เป็นต้นไป เศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นเป็นพิเศษ โดย ไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้เติบโตได้ 5.2%
2. ผลกระทบต่อตลาดประเทศเกิดใหม่ หากเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะเกิดปัญหากับประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่เล็กๆ เช่น อียิปต์
3. การฟื้นตัวของสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาด Bear Market มีโอกาสลงทุน ไม่มีใครซื้อได้ที่ราคาต่ำสุด แต่จะซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ต้องถือ 2 ปี ผลตอบแทน 40-50% ถ้าพลาดโอกาสนี้จะต้องรออีกหลายปีกว่าจะได้ในราคาสินทรัพย์ที่ระดับนี้