นายโกสิทธิ์ ประสิทธิ์เวโรจน์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยศาลพิพากษายกฟ้องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลครั้งแรก
สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวันนี้เป็นเรื่องอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งก่อน โดยศาลระบุว่าไม่เป็นการกระทำที่ละเมิด รฟม. มีอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมถึงไม่ได้มีการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ
“ขณะนี้การประมูลครั้งล่าสุดยังค้างอยู่และบีทีเอสได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจึงต้องรอติดตามผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดในคดีปัจจุบันต่อไป โดยคดีปัจจุบันเป็นเรื่องการจัดประมูลขึ้นมาใหม่ที่มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคดีวันนี้แม้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อคดีอื่นที่ยังค้างการพิจารณาอยู่”
สำหรับคดีที่ศาลปกครองพิจารณาในปัจจุบันเหลือ 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีการประมูลครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
2.คดีการประมูลครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดย BTSC ฟ้องประเด็นที่มีการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม