นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และรักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จท. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 วงเงินรวม 285 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้าน (ท่าเรือหน้าบ้าน) เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เนื่องจากในปัจจุบันท่าเรือดังกล่าว มีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก แต่ยังมีการใช้งานที่คับคั่ง และแออัด ส่งผลให้ไม่มีความสะดวกและปลอดภัยต่อภาคการขนส่ง โดยเฉพาะต่อนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเกาะล้านปีละประมาณ 5-6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ จะเป็นงบผูกพัน แบ่งเป็น ปี 2567 วงเงิน 57 ล้านบาท, ปี 2568 วงเงิน 114 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 114 ล้านบาท หาก จท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณในช่วง ต.ค. 2566 ก็สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2569
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว จท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้รับความเห็นชอบแล้วในช่วงปลายปี 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบใหม่ เพื่อให้ท่าเรือมีมาตรฐานเอกลักษณ์ และสวยงาม สามารถดึงดูดแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อปี 2558 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ เพื่อปรับปรุงท่าเรือหน้าบ้าน แต่ จท.มองว่าแบบดังกล่าว ยังไม่มีเอกลักษณ์ และไม่เหมาะกับการเป็นท่าเรือ
ทั้งนี้ท่าเรือหน้าบ้าน เป็นท่าเรือแห่งแรกที่ประชาชนและท้องถิ่นร่วมกันสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2511 โดยเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเกาะล้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา รองรับการเดินทางที่สะดวกสบาย โดยหากนักท่องเที่ยวเดินทางจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย ฝั่งเมืองพัทยา สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเกาะกับฝั่งมายังท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือหน้าบ้าน ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะล้าน
นอกจากนี้เมืองพัทยา ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก จากข้อมูล พบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ คือ ภูเก็ต และพัทยา โดยเฉพาะเกาะล้าน เป็นสถานที่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา จท.ได้ดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะระยะยาว ก่อนที่สภาพชายหาดจะหายไป เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต รวมถึงโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ระยะทาง 3,575 เมตร ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ก่อนส่งมอบให้เทศบาลนาจอมเทียนเป็นผู้ดูแลต่อไป