นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ารถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทางรวม 323.10 กิโลเมตร(กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1
ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. ภาพรวมมีความก้าวหน้า0.75% เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ทั้งนี้สัญญาที่ 2 ได้เริ่มดำเนินงานขุดอุโมงค์ฝั่งเหนือไปแล้วเป็นระยะทางประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นผลงาน 0.15% ในระยะเวลาเริ่มงาน 10 วัน ทั้งฝั่ง up track และ down track ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขุดครึ่งส่วนบนของหน้าตัดอุโมงค์ (top heading) และติดตั้งระบบค้ำยันดิน (primary support)
ด้านอุโมงค์สัญญา 2 ประกอบด้วย ชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัดคือ ลำปาง และพะเยา เป็นอุโมงค์คู่รางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง up track และ down track ความยาว 2,700 เมตร (ทั้งหมด 5,400 เมตร) ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภทคือ ทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ(equipment room) 4 แห่ง
ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้เร่งรัดการดำเนินงานเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง ให้โครงการสามารถเสร็จสิ้นได้ตามแผนต่อไป โดยทั้ง 3 สัญญามีพื้นที่ที่ต้องดำเนินงานเวนคืนฯ รวม 8,665 แปลง 12,076 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน สปก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่นๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ ขณะนี้ได้เริ่มทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนในโครงการฯ แล้ว โดยสัญญาที่ 1 มีความก้าวหน้า 54% สัญญาที่ 2 มีความก้าวหน้า 29% และสัญญาที่ 3 มีความก้าวหน้า 49%
สำหรับโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยปลายทางจะบรรจบกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4
ในอนาคตจะถูกพัฒนาไปเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ รูปแบบเส้นทางเป็นทางคู่ใหม่ขนานกันตลอดเส้นทาง มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่งที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ
ส่วนจุดเด่นที่สำคัญของโครงการนี้คือ เป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยไม่มีจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีการออกแบบรั้วกั้นเขตตลอดแนวสายทางของการรถไฟฯ และออกแบบสะพานข้ามทางรถไฟ สะพานข้ามถนน และถนนลอดทางรถไฟ ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า ทางรถจักรยานยนต์ข้าม ลอดทางรถไฟ รวม 254 จุดตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ 4 แห่ง
ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. และมีอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในไทย 6.2 กม. โดยเป็นสายทางที่คาดการณ์ว่าจะสวยที่สุดของการรถไฟฯ นอกจากนี้ยังมีลานกองเก็บสินค้า CY มากถึง 5 แห่ง เพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้โครงการฯยังออกแบบสถานีต่างๆ ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ สถานีไร่เชิญตะวัน จะนำวัสดุธรรมชาติ ประเภทไม้ไผ่ มาใช้ในการออกแบบโครงสร้าง เสา โครงหลังคา ลวดลายประดับ และนำรูปแบบของประตูชัย ซึ่งเป็นประตูด้านในของไร่เชิญตะวันมาออกแบบเป็นอาคารพักคอย
บริเวณป้ายหยุดรถไฟด้วย นอกจากนี้ในการออกแบบทุกสถานี ยังยึดหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย และเท่าเทียมกัน พร้อมกันนี้ยังสร้างคุณค่าในตัวสถานีด้วยการจัดพื้นที่ห้องโถงสถานีแสดงผลงานของเหล่าจิตรกรประจำจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย
อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 -1.30 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง และสามารถสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี