Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19
การส่งออกในระยะข้างหน้า จึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกในปี 2566 อาจต่ำกว่าประมาณการที่เคยประเมินไว้เดิม และมีโอกาสจะขยายตัวในอัตราติดลบ หลังจากส่งออกเดือน ม.ค. ติดลบ 4.5%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -1.0%
ทั้งนี้การส่งออกสินค้า ทั้งหมวดเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมต่างหดตัวลง จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้ายังอ่อนแอท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งการหดตัวดังกล่าวอยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค ขณะที่การส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัวต่อเนื่องที่ -14.8% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้หดตัว 4.4%YoY
ด้านตลาดส่งออกส่วนใหญ่ของไทยก็หดตัว เช่นกัน อย่างสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -4.7%YoY จีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ -11.4%YoY ญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -9.2%YoY ขณะที่ EU27 กลับมาขยายตัวที่ +2.2%YoY และ ASEAN5 กลับมาขยายตัวที่ +2.3%YoY
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค. อยู่ที่ 24,899.1 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาขยายตัว 5.5%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 11.9%YoY เป็นผลจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+84.4%YoY) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+28.4%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+0.4%YoY) ด้วยแรงหนุนจากการทยอยปรับตัวเป็นปกติมากขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน (-10.3%YoY) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-7.4%YoY) หดตัวลง ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัว ด้านดุลการค้าเดือน ธ.ค. ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ระดับ -4,649 ล้านดอลลาร์
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 ในระยะข้างหน้า การส่งออกจึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราที่ติดลบ