บาทอ่อนแตะ 35 ส่งออก-นำเข้าป่วน ต่างชาติเที่ยวไทยได้อานิสงส์

02 มี.ค. 2566 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 05:17 น.

เงินทุนไหลออกเดือนกุมภาพันธ์กว่า 4.2 หมื่นล้าน เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก กดบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 4 เดือน ส่งออก-นำเข้ากุมขมับคำนวณราคาซื้อขายยาก สมาคมโรงแรมฯชี้ต่างชาติได้อานิสงส์เที่ยวไทย

ค่าเงินบาทปี 2566 ยังมีความผันผวนสูง จากเดือนมกราคมเฉลี่ยที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์อ่อนค่าที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 4 เดือนซึ่งค่าเงินบาทนี้ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า เงินบาทที่อ่อนค่าปัจจัยหลักมาจากสัญญาณธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) คุมเข้มเงินเฟ้อด้วยการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเชิงฤดูกาล ช่วงสิ้นเดือนมีความต้องการซื้อดอลลาร์ของผู้นำเข้า ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลเงินทุกสกุลในเดือนกุมภาพันธ์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

“เดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสิ้นปี 2565 ประมาณ 5.7% โดยฟันด์โฟลว์(เงินทุนเคลื่อนย้าย) เข้าตลาดหุ้นไทยเดือนมกราคม(ซื้อสุทธิ ) 18,344 ล้านบาท ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ขายสุทธิ 40,114 ล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร(บอนด์) เดือนมกราคมซื้อสุทธิ 24,977ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ฟันด์โฟลว์ไหลออก 42,157 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทยมองจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน จากตลาดปรับคาดการณ์เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยลากยาวต่อไป”

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทครั้งนี้ มองว่ามีปัจจัยสำคัญจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปสหรัฐฯ จากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เวลานี้ปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินจากทั่วโลกไหลไปลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ยังผลให้บาทอ่อนค่าลง

บาทอ่อนแตะ 35  ส่งออก-นำเข้าป่วน ต่างชาติเที่ยวไทยได้อานิสงส์

จากเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 4 เดือนครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการตกลงซื้อขายสินค้า ทำให้คำนวณราคายากจากค่าเงินไม่นิ่ง รวมถึงผลต่อการชำระค่าสินค้าของคู่ค้า ที่อาจทำให้ผู้ส่งออกไทยขาดทุน จากปกติในการส่งออก คู่ค้าจะชำระเงินค่าสินค้าประมาณ 60 วันหลังส่งมอบ เช่น ส่งออกไปเดือนกุมภาพันธ์ จะได้เงินเดือนเมษายน การอ่อน-แข็งของค่าเงินทำให้คาดการณ์กำไร-ขาดทุนยาก ขณะที่ผู้นำเข้าสินค้าเข้ามาจะได้รับกระทบมากจากต้องจ่ายแพงขึ้นตามค่าเงินที่อ่อนค่าลง

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้เป็นห่วงผู้ส่งออก-ผู้นำเข้ารายย่อย(เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบมาก จึงขอแนะนำให้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) กับธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) รวมถึงขออนุมัติวงเงินแบงก์เพิ่ม เนื่องจากเวลานี้ราคาสินค้า หรือวัตถุดิบนำเข้าต่อหน่วยสูงขึ้น

“การอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า และคู่แข่งขันส่งออกในภูมิภาค ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ว่าค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่า ค่าเงินบาทคงแกว่งตัวไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 เดือน โดยหากอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ถือเป็นระดับที่ผู้ส่งออกพอใจ และจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา”

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มองไปข้างหน้าโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36.50 บาทต่อดอลลาร์น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก่อนจะกลับมาแข็งค่าในครึ่งปีหลังเมื่อค่าเงินดอลลาร์ผ่านจุดสูงสุดพร้อม ๆ กับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดแตะจุดสูงสุดช่วงกลางปี โดยน่าจะจบที่อัตรา 5.5%

ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้น ต่างชาติเทขายจาก 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นปัจจัยภายนอกท่ามกลางความผันผวนและลดการถือครองในสินทรัพย์เสี่ยงเกือบทั่วโลก สิ่งเดียวที่จะรอดคือเงินสดโดยเฉพาะเพิ่มสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ในฐานะของ Safe Haven Currency เพราะทองและพันธบัตรไม่ใช่ทางรอด ซึ่งการขายหุ้นของต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯต่อทุกสกุลเงิน

ส่วนที่สอง ปัจจัยในประเทศ การซื้อสุทธิ 2 แสนล้านบาทในปีที่แล้วเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ขายทำกำไรหรือลดน้ำหนัก ไม่น่าจะเข้ามาถือยาวเพราะปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของไทยยังไม่เปลี่ยน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย

ด้าน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาท ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยของต่างชาติ เพราะค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีความผันผวนสูง คนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการเดินทางมาเที่ยวอยู่แล้ว และด้วยค่าตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงขึ้น คนที่เดินทางมาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยอยู่แล้วได้อานิสงส์ จากการแลกเงินบาทได้เพิ่มขึ้น และใช้จ่ายในไทยได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย จากเงินบาทอ่อนค่า อาจทำให้ค่าเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่คนที่มีกำลังซื้อก็พร้อมจะเดินทางอยู่แล้ว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3866 วันที่ 2-4 มีนาคม พ.ศ. 2566