ส่งออกไทยติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม2565มาถึงเดือนมกราคา2566 แม้ว่าตัวเลขส่งออกเดือนแรกของปีนี้จะไม่สวยงาม ลบที่4.5% และขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ10ปีนั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ต่างออกมายืนยันว่า สาเหตุที่ส่งออกไทยติดลบในเดือนแรกเป็นผลมาจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาคการผลิตและการคำสั่งซื้อใหม่ของสินค้าส่งออกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกเดือน ม.ค. 66 อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ไม่ใช่เพราะศักยภาพการส่งออกออกของไทยลดลง
โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ของต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในหลายอุตสาหกรรม สอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกของไทยที่หดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยลง ส่งผลให้การส่งออกบางสินค้าหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบการส่งออกกับประเทศอื่นในภูมิภาคถือว่าไทยยังมีศักยภาพที่ดี และเดือน ม.ค. ถือว่าติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เช่น ฮ่องกงติดลบ 10 เดือนต่อเนื่องโดยม.ค. 66 ติดลบ 36.9% ,เวียดนามติดลบ 25.9% ต่อเนื่อง3 เดือน, ไต้หวันติดลบ21.2% ต่อเนื่อง 5 เดือน, เกาหลีใต้ติดลบ16.6% ต่อเนื่อง 4 เดือน, ญี่ปุ่นติดลบ8.9% ต่อเนื่อง10 เดือน, สิงคโปร์ติดลบ7.9% ต่อเนื่อง3 เดือน และอินเดียติดลบ6.6% ต่อเนื่อง 2 เดือน เป็นต้น
ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้จะยังเป็นแรงกดดันสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก แต่การส่งออกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีมองว่าเศรษฐกิจของตลาดเป้าหมายการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี การเปิดประเทศของจีนคู่ค้าสำคัญที่จะฟื้นภาคการผลิตของโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายลงของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ส่วนการขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงสุดในรอบ 10 ปีนั้น ต้องบอกว่าสาเหตุสำคัญของการขาดดุลการค้าเดือน ม.ค. 66 มาจากการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่สูง หลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกกลับมาเปิดประเทศ พร้อมทั้งยกเลิกนโยบาย Zero-Covid ช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันทั้งในภาคการขนส่งและการผลิต และยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
ขณะเดียวกันอุปสงค์ภายในประเทศของไทยขยายตัวต่อเนื่อง รองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังเปิดประเทศ โดยการนำเข้าเดือน ม.ค. ขยายตัวในหมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (สัดส่วน 21.1% ขยายตัว 84.4%) สินค้าอุปโภคบริโภค (สัดส่วน 12.6% ขยายตัว 0.4%) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (สัดส่วน 4.9% ขยายตัว 28.4%) เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถิติตั้งแต่ปี 2544 พบว่า ราคาน้ำมันดิบ มีผลต่อมูลค่าการนำเข้าและดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าพลังงาน ในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ของการนำเข้ารวม จึงทำให้ขาดดุลการค้า ซึ่งความผันผวนของราคาพลังงานในอดีตที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาความขัดแย้งที่กระทบต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมากๆ ต่างก็ขาดดุลการค้าสูงในเดือน ม.ค. 66 เช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น ขาดดุล 26,804.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ ขาดดุล 12,651.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย 17,742.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น