อัตราเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้น 3.79% (YoY) ในเดือนนี้ เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% (YoY) ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น 7.70% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า) ผักและผลไม้ (มะนาว แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน)
ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง) เครื่องประกอบอาหาร (ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม) ส่วนเนื้อสัตว์ (ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร) ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.47% (YoY) ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น3.18% เนื่องจากสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าทัศนาจรในประเทศ
นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ สารกำจัดแมลง) ราคาชะลอตัวลง ขณะที่ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.93% (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.12% (MoM) ตามหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลง 0.41%
สำหรับ สินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ผักและผลไม้สด (ผักคะน้า ผักชี ต้นหอม มะม่วง ส้มเขียวหวาน แตงโม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้ง น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และเครื่องปรุงรส ราคาลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.09%
เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อาทิ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภท (ยกเว้นราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลง) ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าเช่าบ้าน และวัสดุก่อสร้าง และบางรายการราคาปรับลดลง อาทิ ค่าของใช้ส่วนบุคคล (ผ้าอนามัย แชมพูสระผม ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) น้ำยาล้างจาน
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมีนาคม 2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก
และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นมีสาเหตุสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว
สะท้อนได้จากจำนวนเที่ยวบิน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ มาตรการลดค่าครองชีพ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัว และราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ