นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวสูงขึ้น 3.79% แต่เป็นอัตราที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารบางรายการปรับตัวลดลง ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่5.02%
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายตัวอยู่ที่ 3.79% มาจากสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.74 โดยเฉพาะมะนาวและผักสดบางรายการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศและมีปริมาณผลผลิตน้อยลง ทำให้มีราคาสูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมเชื่อว่าจะยังชะลอตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ เพราะอาหารสดบางรายการมีการปรับราคาลดลงรวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวของราคาพลังงานการส่งออกลดลงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การจับจ่ายชะลอตัว แต่ปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวได้แก่การปรับขึ้นค่าก๊าซหุงต้มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและสินค้าเกษตรมีราคาดี
โดยสนค.ยังคงกรอบอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่2-3% หรือ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% จากสมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสนค.จะมีการปรับสมมุติฐานใหม่ในการแถลงเดือนหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากขึ้นเนื่องจากเวลานี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับลดลงแล้วและอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มแข็งค่าขึ้นซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบ1-2%