พักหลังๆจะเริ่มเห็นคนพูดถึงเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของแพงขึ้น นั้นเป็นเพราะ ราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของเราเองยังเท่าเดิม ทำให้รู้สึกว่าซื้อของได้น้อยลงแต่จ่ายเพ่มขึ้น “เงินเฟ้อ”คือค่าดัชนีชี้วัด ค่าของเงินในกระเป๋าที่เรามีอยู่ว่ามีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าค่าเงินเฟ้อเป็นบวกมากๆ ก็แสดงว่าเงินในกระเป๋ามีค่าน้อยลงตาม อำนาจจับจ่ายก็น้อยไปด้วย
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.2566 เพิ่มขึ้น 3.79% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ13เดือน สำหรับเงินเฟ้อเดือนก.พ.2566 ที่สูงขึ้น 3.79% มาจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 2.47% โดยเดือนม.ค.2566 เพิ่ม 3.18%
มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าทัศนาจรในประเทศ สิ่งเกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ สารกำจัดแมลง แต่ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ เช่น แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก สองแถว เครื่องบิน วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% ชะลอตัวจากเดือนม.ค.2566 ที่สูงขึ้น 7.70% โดยมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น คือ อาหารสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า ผักและผลไม้ เช่น มะนาว แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง เครื่องประกอบอาหาร เช่น ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม และเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก
เรามาดูกันว่า ในเดือนก.พ.2566 มีค่าใช่จ่ายอะไรบ้างที่คนไทยต้องจ่ายในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ถ้าดูสัดส่วนการบริโภคต่อครัวเรือน พบว่า สินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถึง58.49% โดย ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์ สูงถึง 23.32% รองลงมาเป็นค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าชหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ22.20% ส่วนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ถึงร้อยละ41.55% โดย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงถึง9.67% รองลงมาเป็นอาหารบริโภคในบ้าน9.01% และอาหารบริโภคนอกบ้าน 6.87% เป็นต้น
ทั้งนี้แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมี.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมี.ค.2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ แต่ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมี.ค.2566 การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก