ความอ้วนอาจเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่สำหรับ โรคอ้วน คือปัญหาระดับโลกที่มีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน ใน วันอ้วนโลก (World Obesity Day) เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา “เรื่องอ้วน…เราคุยกันได้นะ - Let’s talk about obesity”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงมากขึ้น ข้อมูลหลังจากการสำรวจในปี 2562-2563 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะอ้วน 42.2% และอ้วนลงพุง 39.4%
ทั้งนี้ ที่น่าตกใจคือคนไทยป่วยเป็นโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน โดยเมื่อตีกรอบมาที่คนกรุง พบว่ามีคนอ้วนมากที่สุดถึง 47% ซึ่งที่น่าวิตกคือผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนลงพุงถึง 65.3%
ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NDCs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจ หลอดเลือดและมะเร็ง
“ตอนนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะทุกครั้งที่สำรวจสุขภาพคนไทยทุกๆ 5 ปี จะมีคนอ้วนเพิ่มขึ้น”
หลังจากสถานการณ์ค่อนข้างแย่ลง ตัวเลขผู้ป่วยที่มีผลพลวงจากภาวะอ้วนสูงขึ้น และเทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจและศึกษาเกี่ยวกับโรคอ้วนมากขึ้น ทั้งเพื่อดูแลไม่ให้ก้าวไปสู่การเป็นโรคอ้วน ไปจนถึงคนที่ต้องการการรักษาหลังจากเป็นโรคอ้วนแล้ว
พ.อ.หญิง แพทย์หญิง สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มองว่าทุกวันนี้คนให้ความสำคัญกับ "โรคอ้วน" มากขึ้น แต่ยังมีคนอีกมากที่เขินอาย ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ เป็นเหตุให้เกิดกำแพงสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดโรคอ้วนด้วย การให้ความรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่คนกลุ่มนี้
“ปัญหาสุขภาพเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลก็จริง แต่ในแต่ละวันทุกคนไม่ได้อยู่กับตัวเองอย่างเดียว ออกไปทำงานอย่างน้อยก็ 8-12 ชั่วโมง ที่ต้องอยู่นอกบ้าน สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลมาก เพราะฉะนั้นการรับผิดชอบตัวเองอาจจะยังไม่พอ นโยบายบังคับ ความมีจิตสำนึกด้วยกันเองที่จะช่วยแก้ปัญหา จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจะช่วยแก้ปัญหานี้”
นอกจากความอวบอ้วนที่เห็นทางกายภาพแล้ว หลายคนยังสงสัยว่าอ้วนแค่ไหนถึงเรียกว่าอ้วน เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ที่บ่งชี้ร่วมด้วย เช่น ส่วนสูง, น้ำหนัก, ปริมาณไขมันในร่างกาย, มวลกล้ามเนื้อ ฯลฯ
ในทางการแพทย์ นายแพทย์ สิระ กอไพศาล สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่าให้ดูที่ดัชนีมวลกาย (BMI) โดยคำนวณได้จากสูตรง่ายๆ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง จะได้เลข BMI ซึ่งตามมาตรฐานคนเอเชียถ้ามากกว่า 25 ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน เป็นต้น
“ส่วนหลักการดูแลเรื่องน้ำหนัก มีมากกว่าการกินน้อย แล้วออกกำลังกายเยอะขึ้น ยังมีเรื่องพันธุกรรม เช่น ในครอบครัวมีคนเป็นโรคอ้วน ฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย ทำให้กินไม่อิ่มสักที รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้ลดน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน ต้องการให้คิดว่าการลดน้ำหนัก เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งสปรินท์ 100 เมตร อยู่ที่ความสม่ำเสมอต้องทำทุกวัน หาวิธีที่ทำได้ยาวๆแล้วมีความสุข”
สำหรับผู้หญิงหลายคนกังวลว่าอ้วนเท่ากับไม่สวย เพียงเพราะมาตรฐานความสวยของคนถูกจำกัดความอยู่แค่ความผอม แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส Miss Universe Thailand 2021 เห็นว่าค่านิยมของคำว่าสวยของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขอให้รักและเห็นคุณค่าในตัวเอง มั่นใจในรูปร่างของตัวเองพร้อมกับมั่นใจว่าเราดูแลสุขภาพให้ดีได้
การดูแลเรื่องน้ำหนักมีหลายสูตรที่กำลังนิยม เช่น คีโต, IF ฯลฯ แน่นอนว่าสูตรลัดเหล่านี้ยังเป็นข้อถกเถียงถึงผลดีผลเสียที่อาจจะตามมา สำหรับบางคนอาจเห็นผลดี แต่ในระยะยาว พ.อ.หญิง แพทย์หญิง สิรกานต์ ชวนให้คิดว่าวิธีที่ดีต้องดีแบบไม่มีเงื่อนไข เช่น การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์ ณัฐดนัย รัชตะนาวิน MD CEO&Founder FitSloth กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาส่วนช่วยให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วนได้ แต่ต้องทำง่าย และยั่งยืนถึงจะมีประโยชน์
เอ็นริโก้ คานัลบรูแลนด์ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนที่มีโรคอ้วนยังต้องแบกรับ การตัดสินจากสังคม และความรู้สึกลบที่ต้องเจอทุกวัน ในฐานะบริษัทวิจัยและพัฒนายาเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของโรคอ้วนไปสู่ทิศทางที่ดี
“พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่ายต่างๆที่ทำงานด้านนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้คนเข้าใจถึงแนวทางที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เพื่อลดโรคอ้วน เพราะการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ต้องควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดี”