นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงถือเป็นสินค้าดาวเด่นที่น่าจับตามอง และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร
ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มและวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารปลอดสารพิษ แคลอรี่ต่ำ และอาหารสำหรับสัตว์ที่เจ็บป่วย นอกจากนี้ ควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านสุขอนามัย เพื่อให้สินค้าไทยครองใจผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ไทยครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) การส่งออกไปตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี
สำหรับในปี 2565 การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่า 2,847 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+15%) เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ สหรัฐอเมริกา (+30%) อาเซียน (+12%) สหภาพยุโรป (+17%) และออสเตรเลีย (+22%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วน 86% ของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีสัดส่วน 13% ของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด
อย่างไรก็ตมมผู้ส่งออกควรเร่งใช้สิทธิพิเศษFTA ที่ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่ค้าของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีสินค้าอาหารเสริมของสัตว์เลี้ยง อัตรา 12.8%
ส่วนเกาหลีใต้ เก็บภาษีอัตรา 40.4% และอินเดีย เก็บภาษีสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่ไม่ใช่สุนัขและแมว อัตรา 30% สำหรับความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าอาหารเสริมของสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติมให้ไทยจนเหลือ 0% ในปี 2579
ทั้งนี้ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง กรมจึงได้เดินหน้าเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้ FTA กรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลง FTA ที่มีอยู่แล้ว การสรุปผล FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา และการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สมาคมการค้าเสรียุโรป และสหราชอาณาจักร รวมถึงสหภาพยุโรปที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญของไทยอีกด้วย