"วีนัส อัศวสิทธิถาวร" ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า จากแนวทาง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero-Go Green -Lean เหลื่อมล้ำ-ย้ำร่วมมือ” ที่เอสซีจียึดเป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่อง
ลดเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ที่เอสซีจีพยายามส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง มีความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จากการทำฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ และเพื่อการเกษตรมีผลผลิต จนต่อยอดมาสู่โครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
ปัจจุบัน เอสซีจี ได้ขยายผลไปยัง 500 ชุมชน กว่า 2 แสนคน ใน 37 จังหวัด ให้เลิกแล้ง-เลิกจน มีอาชีพ รายได้เฉลี่ยเพิ่ม 5 เท่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และยังสามารถส่งต่อโอกาสดีๆ เหล่านี้ ให้กับกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ผู้สูงวัย และผู้มีรายได้น้อย ให้เห็นคุณค่าตัวเอง ลุกขึ้นมาสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้กับตัวเอง
เอสซีจีได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูน เพื่อติดตามความสำเร็จของโครงการ พร้อมพูดคุยกับคนในชุมชน อาทิ ผู้ใหญ่คงบุญโชค กลิ่นฟุ้ง ผู้นำชุมชนบ้านสาแพะ จังหวัดลำปาง ที่ผลักดันให้ชาวบ้านช่วยกันแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ บ่อพวง การทำแก้มลิง และระบบกระจายน้ำเข้าไร่นา ทำให้สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี และทำเกษตรปราณีต เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่ม 4-5 เท่า ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท
ผู้ใหญ่คงบุญโชค บอกว่า ชาวบ้านมีรายได้รายวันจากการปลูกพืชผักสวนครัวขาย มีรายได้รายเดือนจากการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช สางเจียไต๋ และศรแดง และยังมีโบนัสจากการปลูกมะม่วงโชคอนันต์
ส่วนที่จังหวัดลำปาง “เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง” หรือ “แม่หนิง” เจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้โดยพลังชุมชนของเอสซีจี คือการสร้างจุดขายด้วยการสร้างอัตลักษณ์ เช่น ปรับคุกกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลำปาง และปรับบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าซื้อ และยังปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน อย. โดยนำบ้านเข้าจดทะเบียนเป็นโรงงาน
“แม่หนิง” ยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์ ทำให้เข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ และยังสร้างงานให้กับคนในชุมชนทั้งกลุ่มเยาวชน และผู้สูงวัย
“อำพร วงค์ษา” หรือ “ครูอ้อ” ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ.ลำพูน กล่าวว่า โครงการพลังชุมชนได้สอนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง จากที่ท้อแท้ด้วยปัญหาในครอบครัว ด้วยการทำงานที่ตัวเองรักและถนัด คือ งานหัตถกรรม เช่น การเย็บปัก ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังได้แบ่งปันความรู้ให้คนในชุมชนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำ พึ่งพาตัวเอง และก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สร้างอาชีพ เพื่อสร้างงานให้คนในชุมชน
“ครูอ้อ” ยังขยายเครือข่ายช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาครอบครัว รวมถึงผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ให้ลุกขึ้นมามีกำลังใจ สร้างงานอาชีพให้กับตนเอง โดยใช้หลักการความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ ส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านั้นทำงานเท่าที่มีความสามารถ และทำงานตามกำลังที่มีอย่างมีความสุข ไม่กดดัน
“วีนัส” กล่าวว่า เอสซีจีต้องการขยายผล ด้วยโมเดลที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ เชื่อมต่อกับพันธมิตรที่สามารถเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้าของชุมชน รวมทั้งขยายขอบข่ายสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่มีปัญหา ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการมีขีวิต มีอาชีพและรายได้ ทำให้คนในบุมชนสามารถพึ่งพาตัวเอง และยังส่งต่อความรู้สู่คนรอบข้าง เป็นการลดภาระสังคม และลดเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,872 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2566