26 ม.ค.2566 - หลังจาก SCG เผยผลประกอบการ ปี 2565 โดยระบุ มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% แต่กำไร ลดลง 55% อยู่ที่ 21,382 ล้านบาท จากสาเหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูงกระทบช่วงไตรมาส 4 เหลือกำไรเพียง 157 ล้านบาทเท่านั้น
ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนผลจากวิกฤติซ้อนวิกฤติ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า สำหรับในปี 2566 นั้น บริษัท จะเกาะติดสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ภายใต้แผนลงทุนใหม่ ประมาณ 4-5หมื่นล้านบาท โดยบริษัท ยังมีเงินสดคงเหลือแข็งแกร่งอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ขณะเดียวกัน เห็นว่า ความท้าทายที่ผ่านมาก็เอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการสินค้ากรีน ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญของโลกและมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลังงานสะอาด พลาสติกรักษ์โลก โซลูชันประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีพร้อมเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น พร้อมๆกับ การลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต โดยปี 2566 ตั้งเป้าเติบโตทางรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% ภายใต้สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า
"สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เอสซีจีเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ และตอบความต้องการใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี"
นายรุ่งโรจน์ กล่าวย้ำว่า ปีนี้ เอสซีจี ยังคงมุ่งรักษาความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่อง ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ รัดเข็มขัด รวมทั้งลดต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ลงทุนในนวัตกรรม คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างโซลูชันรองรับเมกะเทรนด์โลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ซึ่งตลาดในภูมิภาคเริ่มฟื้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอสซีจี พร้อมช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม โดยปี 2565 สร้างอาชีพให้ผู้ที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรวม 9,000 คน ให้มีรายได้ ลดเหลื่อมล้ำในสังคม
สำหรับแผนธุรกิจที่น่าสนใจของ SCG ปีนี้นั้น คือ การเร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง
การลงทุนพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต
การเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM " เพื่อเจาะตลาดโลก รวมถึงการขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร หลังจากลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) / Recycling Holding Volendam B.V. เป็นต้น