หลังจากการสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนเริ่มคลี่คลายหลังจากสถานการณ์โควิดมีทิศทางที่ดีขึ้นและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเปิดด่านและมีกิจกรรมจากเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนในปีที่ผ่านมากลับคึกคัก โดยการค้าชายแดนและผ่านแดนของปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,790,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,029,837 ล้านบาท ลดลง 0.26% และการนำเข้ามูลค่า 760,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.84%
ไทยได้ดุลการค้าในปี 2565 ทั้งสิ้น 269,155 ล้านบาท ทั้งนี้ไทยมี การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และสปป. ลาวปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 1,058,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.37% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 648,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.68% และการนำเข้ามูลค่า 410,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48%
ต้องบอกว่าการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม ซึ่งเดือนม.ค.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 146,166 ล้านบาท ลดลง 3.68% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 71,670 ล้านบาท ลดลง 6.44% และนำเข้า มูลค่า 68,499 ล้านบาท ลดลง 0.61% โดยส่งออกชายแดน ไปมาเลเซีย กัมพูชาและเมียนมา ลดลง แต่ส่งออกไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น แต่เวียดนาม ลดลง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการค้าชายแดนผละผ่านแดนในเดือนมกราคาละลดลงแต่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็น น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ ของรถยนต์ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป รถยนต์นั่ง (เครื่องสันดาปภายใน) รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุก (เครื่องสันดาปภายใน) เครื่องดื่มอื่นๆ (นม UHT น้ำมะพร้าว กาแฟ) และโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อนบ้าน
แสดงให้เห็นว่า โอกาสของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยังคงเป็นค่าเงินบาท ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะประเทศ CLMV และการฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า/เศรษฐกิจโลก อย่างจีนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 8% ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำไปผลิตสินค้าถุงมือยาง และล้อรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และที่ผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีน การผ่อนคลายมาตรการล้อคดาวน์ของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
รู้แบบนี้แล้วผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งมองหาโอกาสและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอาศัยความได้เปรียบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เร่งเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น และคาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่องด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก