“รฟท.” ปักธงส่งมอบทรัพย์สิน 6.1 พันสัญญา 4.4 พันล้าน โกยรายได้

29 มี.ค. 2566 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2566 | 07:37 น.

“รฟท.” กางแผนส่งมอบทรัพย์สิน 6.1 พันสัญญา ปั๊มรายได้ 3.5 พันล้านบาท เร่งแก้ไขระเบียบรถไฟที่ดินแปลงเปล่า 28 แปลง เตรียมชงบอร์ดรถไฟเคาะเม.ย.นี้ ฟากผลศึกษาโรงแรมรถไฟหัวหิน ถูกปัดตก หลังการรถไฟฯสั่งเจรจาผลตอบแทนผู้เช่ารายเดิมก่อนสัญญาสิ้นสุด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งส่งมอบ ทรัพย์สินให้กับ บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูก นำออกประมูลสร้างรายได้

 

ล่าสุด นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 รฟท.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมและบริษัทเอสอาร์ทีฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้า เบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
 

โดยกลุ่มที่ 1 รฟท.จะส่ง มอบทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ บริหาร จำนวน 1,813 สัญญา มูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาเช่าที่ดินและอาคารที่ยังไม่หมดอายุ รวมทั้งสัญญาที่มีการเปลี่ยนผู้เช่ารายเดิมและต่อสัญญาใหม่ ปัจจุบันรฟท.ได้จัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยมอบหมายบริษัท เอสอาร์ทีฯ ยื่นข้อเสนอให้รฟท.ภายในเดือนมีนาคมนี้ และเจรจาอัตราค่าจ้างร่วมกับบริษัทเอสอาร์ทีฯ ภายในเดือนเมษายน 2566 หลังจากนั้นจะขออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบเพื่อลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566

 

ส่วนการส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯบริหารสัญญาในกลุ่มที่ 2 จำนวน  4,294 สัญญา มูลค่า 999 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาที่บริษัทเอสอาร์ทีฯ เช่าไปบริหารให้แก่ผู้เช่ารายเดิม เบื้องต้นรฟท.กำหนดแผนการส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทเอส อาร์ทีฯบริหาร เป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 จำนวน 1,294 สัญญา ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.อนุมัติให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ เช่าโดยไม่ต้องประมูล ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอบริษัทเอสอาร์ทีฯยื่นเงื่อนไขการเช่าต่อรฟท. หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาภายในเดือนเมษายนนี้ 
 

ระยะที่ 2 จำนวน 1,500 สัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบริษัทเอสอาร์ทีฯ รวบรวมข้อมูลสัญญาและคิดผลตอบแทนค่าเช่า 15 ปี (ปี 2566-2580) คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (รฟท.) อนุมัติได้ภายในเดือนเมษายน 2566 หลังจากนั้นจะแจ้งเงื่อนไขการเช่าให้บริษัทเอสอาร์ทีฯรับทราบ และลงนามสัญญาเช่าภายในกลางเดือนมิถุนายน 2566 

 

ระยะที่ 3 จำนวน 1,500 สัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอบริษัทเอส อาร์ทีฯ รวบรวมข้อมูลสัญญาและคิดผลตอบ แทนค่าเช่า 15 ปี (ปี 2566-2580) คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (รฟท.) อนุมัติได้ภาย ในเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากนั้นบริษัทเอสอาร์ทีฯจะต้องรับเงื่อนไขการเช่า และลงนามสัญญาเช่าได้ภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2566 

 

 “ในช่วงแรกการส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯบริหารนั้น ยังไม่ได้มีนัยยะสำคัญมาก คาดว่าจะทำให้รฟท.มีรายได้ประมาณ 3,500 ล้านบาท  นอกจากนี้สัญญาที่ทำให้มีรายได้มากกว่าการส่งมอบพื้นที่ ทรัพย์สินฯให้บริษัทเอสอาร์ทีฯบริหารนั้นไม่ใช่สัญญาที่อยู่ในมือ แต่เป็นสัญญาที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)”

“รฟท.” ปักธงส่งมอบทรัพย์สิน 6.1 พันสัญญา 4.4 พันล้าน โกยรายได้

นายอนันต์  กล่าวต่อว่า ส่วนที่ดินเปล่าแปลงใหญ่และที่ดินเปล่าอื่นๆ ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 28 แปลง แบ่งเป็น ที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ จำนวน 11 แปลง และที่ดินเปล่าอื่นๆ จำนวน 17 แปลง เบื้องต้นรฟท.ต้องการให้บริษัทเอสอาร์ทีฯสามารถดำเนินการขอเช่าที่ดินได้โดยตรงกับรฟท. ทำให้ต้องแก้ไขระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของรฟท. ก่อน

 

ขณะนี้ได้แก้ไขระเบียบแล้วเสร็จ คาดว่าจะเสนอการแก้ไขระเบียบฯและสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาภายในเดือนเมษายน นี้ โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ ยื่นข้อเสนอเช่าที่ดินเพิ่มเติมให้รฟท.พิจารณาด้วย 

 

 “สาเหตุการแก้ไขระเบียบดังกล่าวนั้นเพื่อให้บริษัทเอสอาร์ทีฯสามารถดำเนินการขอเช่าที่ดินได้เร็วขึ้น ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในระเบียบฯใหม่ว่า ที่ดินที่มีมูลค่าที่ดินเกิน 500 ล้าน บาท บริษัทเอสอาร์ทีฯจะต้องเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.อนุมัติ จากเดิมที่กำหนดให้ที่ดินที่มีมูลค่าที่ดินเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.อนุมัติ ส่วนที่ดินที่มีมูลค่าที่ดินไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถเจรจาและเสนอมาที่รฟท.เพื่อดำเนินการตามที่ตกลงกัน โดยไม่ต้องวางเงินค่ามัดจำในการจัดทำสัญญาและไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ เพราะเป็นบริษัทลูกของรฟท.” 


สำหรับที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ จำนวน 11 แปลง เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ธนบุรี, โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีแม่นํ้่า, พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ แปลง A - แปลง C,  โรงแรมรถไฟหัวหิน ฯลฯ ส่วนที่ดินเปล่าอื่นๆ จำนวน 17 แปลง เช่น ที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี, ที่ดินอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, ที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ดินจังหวัดหนองคาย ฯลฯ   

 

นอกจากนี้รฟท.มีแผนดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯบริหารตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 5,000 สัญญา ซึ่งเป็นสัญญาเช่าบริเวณทางสถานีรถไฟ โดยจะดำเนินการต่อไปหลังจากรฟท.ส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ ในช่วงแรกแล้ว 

 

นายอนันต์  กล่าวต่อว่า  ส่วนความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการให้เช่าอาคารและทรัพย์สินของโรงแรงรถไฟหัวหิน มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ไม่อนุมัติผลการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากรฟท.ได้มอบหมายให้บริษัทเอสอาร์ทีฯไปเจรจาผลตอบแทนในการต่อสัญญาเช่า 30 ปี ร่วมกับผู้เช่ารายเดิม

 

ตามเงื่อนไขสัญญากำหนดให้ผู้เช่ารายเดิมต้องลงทุนเพิ่มเติมอีก 4 ปี เพื่อเป็นการเพิ่มทรัพย์สินในพื้นที่ฯ หากตกลงร่วมกันได้ สามารถให้ผู้เช่ารายเดิมดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะต้องเจรจาแล้วเสร็จก่อนเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดลง

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบการเจรจาต่อสัญญาเช่าที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินของโรงแรมรถไฟหัวหิน ที่สถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน เนื้อที่ 71.65 ไร่ กับบริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีช รีสอร์ท จำกัด ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2565-15 พฤษภาคม 2566 โดยรฟท.ได้รับผลตอบแทนค่าเช่า ตลอดสัมปทาน 30 ปี ประมาณ 7.7 ล้านบาทต่อปี