ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดงาน Unfolding Bangkok ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เปิดประสบการณ์ใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติ ผ่านการแสดงแสง สี เสียง ดนตรี และการแสดงหลากหลาย เมื่อช่วงวันที่ 18-26 มีนาคม 2566 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 126 ปีวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ วันที่ 26 มีนาคม 2566 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาจัดงานทั้ง 9 วัน ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยแต่ละวันมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 หมื่นคน สูงสุดกว่า 3 หมื่นคนต่อวัน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งาน Unfolding Bangkok ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้ความสำคัญกับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยจัดกิจกรรมย้อนรำลึกชมขบวนรถจักรไอน้ำ และตู้โดยสารที่การรถไฟฯ นำมาดัดแปลงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ประกอบด้วย รถจักรไอน้ำโมกุล เลขที่ 713 และ 715 ตู้รถเพรสทีจ (ที่ปรับปรุงมาอย่างสวยงาม) ตู้รถโดยสาร ชั้น 3 (รุ่นเก้าอี้ไม้) ตลอดจนชมเสน่ห์ของสถานีรถไฟหัวลำโพงในมุมมองใหม่
ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญของสถานีหัวลำโพง ที่มีอายุยาวนานกว่า 107 ปี ซึ่งที่นี่เป็นชุมทางการเดินทางของผู้คนมากมาย ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของประเทศ มีอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และด้านคมนาคมขนส่งทางราง รวมทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กที่มีเสน่ห์อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
การรถไฟฯ มีนโยบายที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุนการอนุรักษ์ และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมของไทย ซึ่งหลังจากนี้ รฟท. ยังมีแผนจะใช้พื้นที่บริเวณสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนเมษายนจะนำหัวรถจักรประวัติศาสตร์รุ่นต่างๆ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ มาจัดแสดงแบบถาวรเพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหัวรถจักรแต่ละคัน และระบบขนส่งทางรางจากอดีต ก้าวสู่อนาคต
ปัจจุบันสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ยังคงเปิดให้บริการขบวนรถไฟตามปกติ โดยเป็นการให้บริการในส่วนของกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ซึ่งทุกวันนี้ยังมีประชาชนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้นั้น การรถไฟฯ ได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการจากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว เพื่อลดความแออัดภายในสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น
การรถไฟฯ ยืนยันว่าจะพัฒนา อนุรักษ์ และส่งเสริมให้สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญ ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นแลนมาร์คสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ ยังคงมีความสวยงาม และความมีชีวิตชีวาอยู่ตลอดไป โดยจะจัดกิจกรรมต่างๆ ที่นอกจากจะให้พี่น้องประชาชนคนไทย ได้มาร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟไทยในอดีตแล้ว จะใช้พื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์ที่หลากหลายให้แก่สังคมด้วย