นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) วันนี้ (19 ม.ค.) ว่า การเปิดให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นไปตามแผนของกระทรวงฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยกระดับบริการระบบขนส่งทางรางของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลรวม 52 ขบวนมาให้บริการ แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของสถานีหัวลำโพงไปได้ราว 50%
ทั้งนี้รฟท. คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุก ๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟชานเมืองสายสีแดง
"ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขบวนรถไฟบางส่วนเข้าสถานีกลางบางซื่อ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการทุบทิ้งหรือโยกย้ายสถานีรถไฟหัวลำโพง เพราะต้นแบบที่ต่างประเทศทำ เป็นการปรับปรุง และคงสภาพสถานีไว้ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับโบราณวัตถุที่มีวิวัฒนาการที่ยาวนาน เชื่อว่าในอนาคตจะไปได้ไกลกว่านี้"
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีนโยบายผลักดันการพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 โครงการ เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางมีความสมบูรณ์อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 4 โครงการ รฟท.ได้ส่งรายละเอียดผลการศึกษามายังกระทรวงฯ แล้ว คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในรัฐบาลนี้ เพื่อผลักดันให้มีการเปิดประกวดราคางานก่อสร้างต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ยังเร่งรัดให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท.ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื้อที่ 2,325 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านเชิงพาณิชย์แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ รวมทั้งประชาชนส่วนอื่นที่จะสามารถเข้ามาใช้บริการได้ เพราะการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี หรือ TOD จะทำการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่น ที่มีการปรับเอาโมเดลพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟของญี่ปุ่นมาใช้ อาทิ การพัฒนาศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์ประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะแบ่งระยะการพัฒนา โดยนำเอาที่ดินในส่วนของแปลง A และ E มาศึกษาเป็นส่วนแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มต้นจัดโรดโชว์ สำรวจความสนใจของนักลงทุน
รายงานข่าวจาก รฟท.ระบุว่า โครงการส่วนต่อขยายสายสีแดงที่กระทรวงฯ เตรียมเสนอ ครม.นั้น มีมูลค่าการลงทุนรวม 68,832 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
2.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
3.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
4.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนหน้านี้ รฟท.เคยทำการศึกษาแผนพัฒนาแปลง A บนพื้นที่ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาท โดยที่ดินแปลงนี้อยู่ติดกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ทางทิศใต้ มีระยะห่างประมาณ 140 เมตร ทิศเหนือติดถนนสายหลักของอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับแปลง A ทิศใต้ติดแนวคลองบางซื่อและถนนกำแพงเพชร ทิศตะวันออกติดแนวรั้วทางด่วนศรีรัช ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยก่อนหน้านี้ รฟท.ทำการศึกษาจะพัฒนาในลักษณะผสมผสาน (มิกซ์ยูส) มีทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงแรม
นอกจากนี้ส่วนการพัฒนาพื้นที่แปลง E ก่อนหน้านี้ รฟท.ศึกษาจะพัฒนาบนพื้นที่ประมาณ 128 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยจะพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก เป็นต้น