"จุฬา สุขมานพ" สานต่อ 4 โปรเจ็กต์ อีอีซีแสนล้าน

05 เม.ย. 2566 | 01:26 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 01:26 น.

"จุฬา สุขมานพ" เลขา สกพอ.คนใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ ปักธงสานต่อ 4 โปรเจ็กต์อีอีซีแตะ 1 แสนล้านบาท เล็งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์ ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

หลังจาก “คณิศ แสงสุพรรณ” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯอีอีซี)ที่ครบกำหนดการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งหมดวาระเมื่อปลายปี 2565 ทำให้ตำแหน่งผู้ที่จะสานต่อโครงงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสะดุดลงชั่วคราว ซึ่งจะรอการสรรหาเลขาฯอีอีซีคนใหม่แล้วเสร็จ จึงจะทำให้โครงการฯต่างๆเดินหน้าต่อไปได้

ที่ผ่านมาจากการเปิดสรรหาเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีมติแต่งตั้ง นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งนี้ ตนได้วางแผนแนวทางการสนับสนุนด้านการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก และเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี ได้แก่

1.เรื่องที่ดิน

2.ด้านแรงงาน

3. Law and regulations และ

4.Logistics infrastructure เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนในการประกอบกิจการ

โดยกำหนดเป้าหมายหลักดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี (ปี 2566-2570) คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุน 4 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการลงทุนในฐานปกติ 250,000 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ 150,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้และจะต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

"ส่วนความกังวลที่หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ แล้วจะไม่เดินหน้าผลักดันอีอีซีต่อนั้น มองว่าหากรัฐบาลชุดใหม่จะโยนอีอีซีทิ้ง เขาต้องฉีกกฎหมายทิ้ง แต่ผมเชื่อว่าอีอีซีเป็นของดีพอที่จะไม่โดนโยนทิ้งง่ายๆ แต่หากจะมีการพัฒนาพื้นที่อื่นก็สามารถทำได้ เพราะแต่ละโปรดักซ์ไม่เหมือนกัน ขณะที่การเข้ามาทำงานในอีอีซีของผมนั้น อะไรที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน สร้างเมือง เป็นอะไรที่อยากทำอยู่แล้ว ผมจึงอยากผลักดันให้อีอีซีเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป"

เร่งรฟท.-เอกชน เจรจายุติไฮสปีด 3 สนามบิน

ด้านความคืบหน้าการเจรจาร่วมกับเอกชนในการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนรวม 24,000 ล้านบาท ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ

ส่วนประเด็นที่ยังติดปัญหาในการแก้ไขสัญญาโครงการฯ คือ การชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และการเพิ่มข้อความในการแก้ไขสัญญาฯใหม่ พบว่าสัญญาเดิมเกิดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในสัญญาไม่ได้มีการระบุข้อความหากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่คาดไว้หรือมาจากปัจจัยภายนอกสามารถเปิดโอกาสให้ผ่อนผันในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเยียวยาให้แก่เอกชนตามสัญญาด้วย

นายจุฬา กล่าวต่อว่า สกพอ.ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้แก่เอกชนก่อนจึงจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้

ถึงแม้ว่าการแก้ไขสัญญาโครงการฯยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยอยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อนได้ ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการรฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ

“หากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ทางสกพอ.จะเร่งรัดเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน เป็นโครงการฯแรกที่ต้องดำเนินการในการเจรจาร่วมกับเอกชน เพื่อเตรียมรอรับรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแก้สัญญาฯ ต่อไป โดยการเจรจาในครั้งนี้ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเจรจาร่วมกับเอกชนแล้วเสร็จเมื่อไร

ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการไฮสปีด 3 สนามบินแล้ว ในบริเวณพื้นที่รอบไฮสปีด 3 สนามบินสามารถพัฒนาได้ทันที เพราะรายได้ในโครงการฯไม่ได้เกิดจากค่าโดยสารโดยตรง แต่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่หลักคือมักกะสัน หากพื้นที่มักกะสันสามารถเปิดให้บริการได้จะช่วยเพิ่มรายได้ของโครงการฯได้”

ถมทะเล “มาบตาพุด เฟส 3” ทะลุเป้า

ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงินกว่า 55,400 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการการก่อสร้างงานขุดลอกและถมทะเลแล้ว ซึ่งเกินกว่าแผนที่วางไว้ โดยโครงการฯนี้เอกชนได้ร่วมลงทุนในโครงการฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

\"จุฬา สุขมานพ\" สานต่อ 4 โปรเจ็กต์ อีอีซีแสนล้าน

ลุ้นส่งมอบพื้นที่ “แหลมฉบัง เฟส 3” กลางปี 68

 

ขณะที่โครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือ F วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างดำเนินการงานขุดลอกถมทะเลแล้ว ขณะนี้พบว่าโครงการฯล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งการถมทะเลพื้นที่ต่ำเกินไป ทำให้ต้องปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งจะไม่กระทบสัญญาร่วมทุนของโครงการฯ

คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นกทท.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ในส่วนของสัญญาร่วมทุนของโครงการฯแก่เอกชนได้ภายในกลางปี 2568 โดยเอกชนจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างดำเนินการภายใน 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

ศึกษา “ศูนย์กลางเมืองใหม่อัจฉริยะ”

นายจุฬา กล่าวต่อว่า สกพอ.มีแผนเดินหน้าศูนย์กลางธุรกิจเมืองใหม่อัจฉริยะ ปัจจุบันสกพอ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงการฯ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมอยู่ในเมืองใหม่มากขึ้น คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปลายปี 2566 ขณะเดียวกันสกพอ.ได้ชำระค่าพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่แล้ว

เบื้องต้นจะต้องของบประมาณปี 2567 เพื่อเริ่มดำเนินการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน,ระบบน้ำ และระบบไฟก่อน โดยโครงการฯจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่อุตสาหกรรมทางการแพทย์,สำนักงาน,ที่พักอาศัย ฯลฯ

ทั้งนี้ต้องจับตาดูเลขาฯอีอีซีคนใหม่ จะเดินหน้าภารกิจ สานต่อโครงการลงทุนต่างๆได้สำเร็จหรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง