การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอีอีซี ภายใต้นโยบายของเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ “จุฬา สุขมานพ” ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 นอกจากวางเป้าหมายชัดเจนว่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2570
ลุยแก้ปัญหา-เร่งรัด 4 โครงการ PPP
ทางเลขาธิการอีอีซี ยังมุ่งเน้นการเข้ามาแก้ปัญหาความล่าช้า และเร่งรัดให้เกิดการลงทุนก่อสร้างใน 4 โครงการ PPP มูลค่า 633,401ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแฟล็กชิพในการลงทุนในพื้นที่นี้
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผมจะแก้ไขความล่าช้าและเร่งรัดการก่อสร้างใน 4 โครงการ PPP ซึ่งการลงทุนก่อสร้างพื้นที่ของเอกชน ที่มีการลงทุนและใช้เงินไปบ้างแล้ว ก็มีดีเลย์ไปบ้าง อะไรที่ติดขัดอยู่ ก็จะต้องหารือกับผู้ลงทุนให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อก่อสร้างให้ได้ตามแผน
เพราะก็มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการก่อสร้างไปแล้ว และเป็นไปตามแผน ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มถมทะเลก่อสร้างแล้วแต่ยังช้าอยู่
รับได้ UTA ลดเฟสพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1
ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังติดปัญหาเรื่องข้อตกลงที่การลงทุนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผูกกับเรื่องการก่อสร้างรันเวย์ 2 กระบวนการดีเลย์อยู่ ซึ่งงบที่รัฐจะใช้ในการสร้างรันเวย์ 2 ตามกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท จะเป็นเงินกู้ 85% ที่จะใช้แหล่งเงินกู้จาก AIIB และอีก 15% จะเป็นงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีการตั้งงบไว้แล้ว รอพ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภา หลังการเลือกตั้ง
ดังนั้นเพื่อให้รวดเร็วทางกองทัพเรือก็จะเริ่มดำเนินการประกาศเชิญชวนเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาก่อสร้างรันเวย์ 2 ไปพรางก่อน แต่จะมีการเซ็นสัญญาจ้าง ก็ต่อเมื่อได้งบมาสร้างรันเวย์แล้ว ก็จะช่วยร่นระยะเวลาไปได้ระดับหนึ่ง
เพราะกระบวนการในการเปิดประมูลก็ใช้เวลา 3-4 เดือน ส่วนการออกหนังสือให้เริ่มงาน(NTP) เพื่อให้ UTA เริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารได้ อย่างช้าคงเป็นช่วงที่พ.ร.บ.งบประมาณออกแล้ว
ส่วนในกรณีที่ UTA จะขอลดขนาดการก่อสร้างในเฟส 1 ลงให้เหมาะสมกับดีมานต์โดยสารหลังโควิด-19นั้น ก็มีการหารือในหลักการที่จะประคับประคองให้ไปได้ เพราะท้ายสุดในปลายทางการก่อสร้างต้องรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนอยู่ดีซึ่งเป็นไปตามสัญญา รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร
เร่งหาข้อสรุปเอกชนขอผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัดเครือซีพี ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ซึ่งจะต้องเจรจาเรื่องข้อสัญญากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวโครงการที่มีบางส่วน ต้องทำเผื่อรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองไว้ด้วย ซึ่งก็อยู่ที่ว่าจะฝากงานให้โครงการไหนทำ ตอนนี้มีการหารือกัน
เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงจะทำช่วงอู่ตะเภาไปก่อนก็จะให้ทำก่อน สร้างไปรอรถไฟเส้นทางโคราช ก็ทำตอม่อเผื่อไปเลย ก็เพิ่มงานไปแล้วค่อยไปหักเงินกันเอาทีหลัง เพราะท้ายที่สุดเป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ทั้งคู่อยู่แล้ว ซึ่งถ้าได้ในหลักการหรือสรุปข้อตกลงกันได้อย่างไร ก็จะต้องนำเข้าครม.ต่อไป
รวมไปถึงเรื่องการขอให้ชำระเงินก่อนการก่อสร้างเสร็จ ที่เอกชนขอผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยระบุว่าเกิดโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม ก็เป็นอีกเรื่องที่มีการหารือกันอยู่ เพราะในหลักการบางอย่างแก้ไขได้แต่ในหลักการบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้