นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ส่งผลให้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมี.ค.2566 เท่ากับ 107.76 เทียบกับก.พ.2566 ลดลง 0.27% เทียบกับเดือนมี.ค.2565 เพิ่มขึ้น 2.83% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
โดยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.22% ชะลอตัวจากเดือนก.พ.2566 ที่สูงขึ้น 5.74% โดยมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ โดยเฉพาะมะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง เพราะปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อยลง ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลง ข้าวสาร ซีอิ้ว น้ำพริกแกง กาแฟ ชา และน้ำอัดลม ที่ต้นทุนยังสูง และอาหารสำเร็จรูป ปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก ราคาลดลง
ส่วนสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1.22% ชะลอตัวจากเดือนก.พ.2566 ที่เพิ่ม 2.47% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล สิ่งเกี่ยวกับความสะอาด เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ค่าบริการตัดผม ค่าทำเล็บ ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมี.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2566 และเพิ่มขึ้น 1.75% เมื่อเทียบกับมี.ค.2565 รวม 3 เดือนเพิ่มขึ้น 2.24%
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนเม.ย.2566 เดิมคาดว่าจะต่ำกว่าเดือนมี.ค.2566 เพราะฐานปีที่แล้วสูงที่สุดในรอบปี แต่พอมีเลือกตั้ง ท่องเที่ยวฟื้นตัว มีเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อไม่น่าจะลดมาก แต่ประเมินแล้วไม่น่าจะเกิน 3% จากนั้นเดือนพ.ค.2566 น่าจะเห็นต่ำกว่า 2.5% และมิ.ย.2566 เป็นต้นไป จะเห็นเงินเฟ้อแตะหลัก 1% ไม่เกิน 1.5% ซึ่งถือเป็นขาลงของเงินเฟ้อ โดยไตรมาสแรก เงินเฟ้อ 3.88% ไตรมาส 2 คาดว่าไม่น่าถึง 3% จะอยู่ที่ 2% นิด ๆ ไม่ถึง 2.5% ไตรมาส 3 และ 4 น่าจะเห็น 1% กว่า ๆ โดยจากแนวโน้มที่ประเมินนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2566 ใหม่ เป็น 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% ลดจาก 2.0-3.0% ค่ากลาง 2.5%
โดยสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.7-3.7% จากเดิม 3-4% น้ำมันดิบดูไบ ราคา 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดจาก 85-95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลดจาก 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ น้ำมัน ที่ยังผันผวน เพราะล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ได้ลดการผลิต ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นทันที แต่มองว่าไม่น่าขึ้นไปกว่านี้ และราคาอาจจะลง เพราะตลาดไม่ตอบสนอง ค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่า จากเงินทุนไหลเข้า เมื่อบาทแข็ง ต้นทุนนำเข้าน้ำมันก็จะถูกลง และต้นทุนก็จะลงอีก ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ผ่านมา ขึ้นราคาไปแล้ว เริ่มทรงตัวแล้ว ไม่น่าจะมีแรงกดดันอีก ยกเว้นน้ำมัน และอาหารสด ที่จะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ