สกพอ. แก้สัญญา ไฮสปีด เพิ่มเยียวยาเอกชน ก่อนโยน ครม.ใหม่ไฟเขียว  

05 เม.ย. 2566 | 21:20 น.

สกพอ. "จุฬา สุขมานพ" เร่งรฟท.-เอกชน เจรจาแก้สัญญาร่วมทุนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน  หลังติดปัญหาชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ -เพิ่มข้อความสัญญาใหม่ ช่วยเยียวยาเอกชน ลุ้นชงกพอ.-ครมใหม่ ไฟเขียว  ยันเปิดใช้ไม่ทันปี 70

 

การเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังไร้ทางออก แม้ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มอบให้ทั้ง3 ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หารือร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เผยถึงความคืบหน้าการเจรจาร่วมกับเอกชนในการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ว่า  ปัจจุบันรฟท. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ

ส่วนประเด็นที่ยังติดปัญหาในการแก้ไขสัญญาโครงการฯ คือ การชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรล ลิงก์ โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และการเพิ่มข้อความในการแก้ไขสัญญาฯใหม่ พบว่าสัญญาเดิมเกิดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในสัญญาไม่ได้มีการระบุข้อความ หากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่คาดไว้หรือมาจากปัจจัยภายนอก สามารถเปิดโอกาสให้ผ่อนผันในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเยียวยาให้แก่เอกชนตามสัญญาด้วย

นายจุฬา กล่าวต่อว่า โครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าอาจจะเปิดให้บริการไม่ทันปี 2570 เนื่องจากโครงการฯเริ่มดำเนินการล่าช้าจากการแก้สัญญาโครงการฯ โดยสกพอ.ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้แก่เอกชนก่อน จึงจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้

ถึงแม้ว่าการแก้ไขสัญญาโครงการฯยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยอยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อนได้ ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการรฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ 

“หากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ทางสกพอ.จะเร่งรัดเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน เป็นโครงการฯแรกที่ต้องดำเนินการในการเจรจาร่วมกับเอกชน เพื่อเตรียมรอรับรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแก้สัญญาฯ ต่อไป โดยการเจรจาในครั้งนี้ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเจรจาร่วมกับเอกชนแล้วเสร็จเมื่อไร ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการไฮสปีด 3 สนามบินแล้ว ในบริเวณพื้นที่รอบไฮสปีด 3 สนามบินสามารถพัฒนาได้ทันที เพราะรายได้ในโครงการฯไม่ได้เกิดจากค่าโดยสารโดยตรง แต่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่หลักคือมักกะสัน หากพื้นที่มักกะสันสามารถเปิดให้บริการได้ จะช่วยเพิ่มรายได้ของโครงการฯได้”

รายงานข่าวจากสกพอ. กล่าวว่าการแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ในกรณีที่กบอ. สั่งการให้รฟท.และเอกชน หารือข้อสรุปในการแก้ไขสัญญาโครงการฯในการชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ระหว่างการสร้างไปจ่ายไป หรือการให้รัฐชำระค่างวดงานก่อสร้างให้เอกชนเร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบโควิด-19 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับเอกชน เบื้องต้นรฟท.จะมีการหารือร่วมกับเอกชนในการแก้ไขสัญญาฯอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายนนี้ 

ทั้งในกรณีการสร้างไป-จ่ายไปเกิดจากการที่ สกพอ.,รฟท.,เอกชนและคณะกรรมการกำกับสัญญาฯโครงการได้มีการเจรจาสัญญาแล้วเสร็จ ซึ่งรัฐไม่ได้เสียประโยชน์ แต่เบื้องต้นที่ประชุมมีความกังวลในประเด็นการชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มอบหมายให้รฟท.กลับไปเจรจาจาร่วมกับเอกชน จากเดิมให้สิทธิ์การชำระโดยสร้างไป-จ่ายไป"เป็นเดินรถไฟไฮสปีด 3 สนามบินไป-จ่ายไปแทน คาดว่าจะเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) อนุมัติอีกครั้งได้ ต้องรอภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ก่อน