ที่ผ่านมาบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับจ้างเดินรถให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องคดีทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถในศาลปกครองที่ยังไม่สิ้นสุด
กลายเป็นกระแสร้อนแรงต่อเนื่องไม่หยุด กับ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่า กทม. และพวกรวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางไปจน ถึงปี 2585 วงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่บีทีเอสซีเพียงรายเดียว
ส่วนการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และ 3. ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า สำหรับการกล่าวหาของป.ป.ช.นั้น ที่ผ่านมาในปี 2543 นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ปี 2535 ซึ่งใช้รูปแบบการร่วมลงทุนเดียวกันกับโครงการสัมปทานเส้นทางหลักโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน 100%
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการฯตามที่กทม.เสนอเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ทาง กทม.ได้เริ่มดำเนินการเปิดประมูลโครงการฯแต่พบว่าไม่มีเอกชนรายใดสนใจการประมูลโครงการฯนี้ ทำให้ กทม.ได้นำเรื่องขอเจรจากับบีทีเอสซี เสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง
ขณะเดียวกันในช่วงที่เสนอครม.นั้น กระทรวงมหาดไทยให้เหตุผลกับครม.ถึงโครงการฯนี้ว่า คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของโครงการฯได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้ลงทุนในโครง การรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว จำนวน 4 ครั้ง โดยที่ประชุมมีมติเห็นพ้องว่า โครงการดังกล่าวทั้ง 3 เส้นทาง เป็นระบบเดียวกับโครงการเดิม ซึ่งมีผู้ประกอบการรายเดียวกัน
อีกทั้งโครงการฯนี้แตกต่างจากโครงการอื่น เช่น ด้านวิศวกรรมจะต้องมีระบบอาณัติสัญญาณและระบบควบคุมการเดินรถ ต้องเป็นระบบเดียวกันกับที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถจึงจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการและเพิ่มความสะดวกต่อผู้โดยสาร โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายจากระบบเดิมเพื่อเชื่อมต่อระบบใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มาก เพราะไม่ต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถ, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบควบคุมการเดินรถใหม่ ที่อาจจะกระทบโดยตรงต่ออัตราค่าโดยสาร
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากครม.มีติเห็นชอบให้กทม.เจรจาร่วมกับบีทีเอสซีนั้น ทางกทม.ได้ดำเนินการยื่นหนังสือขอเจรจากับทางบริษัท โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามพ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ปี 2535 โดยบริษัทได้ส่งหนังสือตอบกลับภายหลังบริษัทได้ศึกษารายละเอียดโครงการฯดังกล่าว ระบุว่า
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หากจะให้ลงทุนเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลัก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางหลักพบว่าในปีที่เปิดให้บริการนั้น ทางบริษัทประสบปัญหาขาดทุน
“บริษัทได้เสนอต่อกทม.ว่าหากจะให้บริษัทดำเนินโครงการฯดังกล่าวควรสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น โดยคณะกรรมการฯตอบกลับว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่บริษัทยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากขัดต่อมติครม. เป็นเหตุให้กทม.ทำหนังสือแจ้งต่อครม.รับทราบว่าไม่สามารถเจรจาร่วมกับบริษัทได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ยุติตามขั้นตอนของ ครม.แล้ว”
ทั้งนี้กทม.ได้ลงทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวด้วนตนเอง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะจัดหาผู้เดินรถในโครงการฯต่อไป เบื้องต้นกทม.ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่กทม.ได้มอบหมายให้บจ.กรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการ ว่าจ้างบีทีเอสซีเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ปี 2535 เนื่องจากเป็นสัญญาการจ้างเดินรถเท่านั้น
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากกทม.หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเสร็จ กทม.ได้เชิญบริษัทยื่นข้อเสนอเพื่อดำเนินการและลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวภายในเดือนพฤษภาคม 2555
นอกจากนี้การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ได้ผ่านการสอบสวน จากกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว หลังสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้องบีทีเอส เพราะไม่มีความผิดตามกฎหมาย
รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อทำคำชี้แจงต่อป.ป.ช. เบื้องต้นบริษัทได้ขอขยายเวลาทำคำชี้แจงประมาณ 1-2 เดือน ส่วนบริษัทจะดำเนินการชี้แจงต่อป.ป.ช.ได้เมื่อไรนั้นยังตอบไม่ได้ เนื่องจากรายละเอียดของเอกสารค่อนข้างเยอะมาก เพราะเป็นสัญญาที่มี อายุกว่า 10 ปีแล้ว
สำหรับมูลหนี้ที่ภาครัฐค้างจ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บริษัทฯ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมเป็นวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ย แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท
คงต้องจับตาดูว่าป.ป.ช. จะดำเนินการอย่างไร หลังจากมีมติแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่บีทีเอสซี มีความพร้อมเดินหน้าสู้คดี ซึ่งมั่นใจว่าสัญญาเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวถูกต้องไม่ได้ล็อคสเปคเอื้อบริษัท