นโยบายภาครัฐสนับสนุน การเดินทางการขนส่งสินค้าและพืชผลทางการเกษตรผ่านเส้นทางระบบราง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สะท้อนจากการลงทุนขยายเส้นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็ว โดยเฉพาะรถไฟไทย-จีน ปลายทางที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมรถไฟ สปป.ลาว ข้ามไปยัง จีนแผ่นดินใหญ่ ทะลุกลุ่มประเทศในแถบยุโรป
สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุน ขนสินค้าได้คราวละมากๆ อีกทั้งยังช่วยลดคาร์บอน เมื่อเทียบกับระบบอื่นอย่างไรก็ตาม หากเส้นทางสายใหม่แล้วเสร็จ และครบวงรอบ ประเมินว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าไทยได้มากขึ้น
ล่าสุดภาคเอกชน โดยบริษัทบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด จำกัด (PAS) และพันธมิตร ได้เห็นโอกาส ระบบราง จ่ายค่าระวางให้กับรฟท. ขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตรถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วโดยเฉพาะจีนกำลังซื้อหลักต้องการบริโภคทุเรียนสายพันธุ์ไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง หลังจาก ประเดิมล็อตแรกปล่อยขบวนรถไฟรอบปฐมฤกษ์ ไปกว่างโจว ประเทศจีน 25ตู้ จำนวน 625ตัน มูลค่ากว่า100ล้านบาท
โดยใช้เวลาเพียง 5 วัน บนระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่19 เมษายน ที่ผ่านมา มีเส้นทางเริ่มจาก สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผ่านแก่งคอย สระบุรี มุ่งหน้าสู่อุดรธานี ปลายทางเขตพรมแดนประเทศไทยที่ หนองคาย จากนั้น ข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-สปป.ลาว ไป ท่านาแร้ง และเชื่อมต่อเข้าจีนเพื่อกระจายสินค้า
นายไกรสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอล มัลติโมดัลโลจิสติกส์จำกัด (GML) และ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตร บริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด จำกัด (PAS) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้วางเป้าหมายการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ทุเรียน ส่งไปจีน ปี 2566 5,000 ตู้ จำนวน 125,000 ตัน
โดยแต่ละตู้บรรจุได้ 25 ตัน เฉลี่ยมูลค่าตู้ละ 3.5 ล้านบาท และภายใน1-2ปีข้างหน้าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าการทางเกษตร ทุเรียน เพิ่มเป็น 10,000 ตู้/ปี หรือ 250,000 ตัน/ปี มูลค่า 35,000 ล้านบาท หลังประสบความสำเร็จส่งทุเรียนล็อตแรกไปกว่างโจว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการการขนส่งทางราง ใช้เวลา 5 วัน ขณะที่เดียวกันปริมาณเท่ากัน ใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 8 วัน ส่วนทางเรือใช้เวลา 15 วัน
“ปีนี้เราคงขนส่งประมาณ ไม่ตํ่ากว่า 5,000 ตู้ ถ้าหมดจากภาคตะวันออกจะไปที่ภาคใต้ต่อไป อันนี้คือทุเรียนและผลไม้ส่วนสินค้าอื่นๆในกลุ่มปตท.เองเราก็มีเม็ดพลาสติกซึ่งเราเคยทดสอบขนส่งไปแล้วก็จะเป็นสินค้าส่วนหนึ่งของกลุ่มปตท.รวมถึงสินค้าที่เป็นซีฟู้ดซึ่งมีพันธมิตรในประเทศไทย ส่งไปยังประเทศจีน โดยจีนช่วยกระจายสินค้าให้ และจะเป็นเป้าหมายหลัก ส่งสินค้าไทยไปจีน ซึ่ง 70 -80% จะเข้าที่กว่างโจวหรือฝั่งตะวันออกของประเทศจีน”
ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกติดปัญหาไม่กระจุกตัวกันที่ด่านแต่รถไฟเป็นด่านพิเศษ ที่ทางการรถไฟ สปป.ลาว และจีน กำหนดช่องทางเดินรถ ไว้ให้ ตรวจสินค้าและผ่านโดยเร็วที่ด่านโม่ฮาน (Mohan) ของจีนทำให้กระจายสินค้าได้คล่องตัวมากขึ้นโดยใช้รถไฟของประเทศจีน ปัจจุบันมีความต้องการบริโภคทุเรียนค่อนข้างสูงโดยมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ไทย สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซียช่วยพัฒนาระบบรางให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมีศักยภาพที่ดีเพิ่มขึ้น
“เป้าหมายต่อปี แสนตันไม่เกินความสามารถ เตรียมพร้อมทั้งเรื่องของรถไฟเรื่องของตู้ซึ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะตู้ควบคุมอุณหภูมิ จะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งในกลุ่มของเราได้ เตรียมไว้ประมาณ 1,000 ตู้แล้วที่จะหมุนเวียนขนส่งสินค้า”
นายธีระพงษ์ เตชาเสถียร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัทแพน-เอเชีย ซิลล์โรดจำกัด (PAS) เพิ่มเติมเรื่องตู้ คือตู้ของเราเป็นรุ่นใหม่ทันสมัยที่สุดสามารถปรับอุณหภูมิจีพีเอสสามารถติดตามได้เรียลไทม์มี สัญญาณเตือนอัตโนมัติหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญ ทางกลุ่มจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล 24 ชั่วโมงค่อนข้างจะทันสมัยมากเทียบเวลาขนส่งทางรางกับระบบอื่น
ทั้งนี้ PAS มีกลุ่มบริษัทในเครือ ที่ให้บริการด้านการขนส่งแบบครบวงจร ทั้งการขนส่งภายในประเทศ การบริการดำเนินงานพิธีการกรมศุลกากรสำหรับการนำเข้าและส่งออกรวมไปถึงการให้บริการคลังสินค้าให้เช่า เพื่อให้กลุ่มลูกค้าได้มีทางเลือกในการเลือกใช้บริการได้อย่างครอบคลุม
อย่างไรก็ตาม บริษัทและบริษัทในเครือกลุ่มพันธมิตร พร้อมและมุ่งมั่นให้บริการ ด้านการขนส่งทั้งทางทะเล, ทางบก และทางอากาศ รวมถึงมุ่งเน้นพัฒนาและการก้าวเป็นผู้นำให้บริการด้านโลจิสติกส์ ด้วยศักยภาพของบุคลากรและด้วยความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่นำเข้ามาใช้สนับสนุนด้านการด้านขนส่ง รวมไปถึงกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ใช้บริการ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มีวิวัฒนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นายอนุวัตร ถาวรศักดิ์ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่ารฟท.ส่งเสริมการขนส่งสินค้าการเกษตร โดยใช้ระบบราง ปัจจุบันมีเอกชนให้ความสนใจใช้ระบบขนส่งรูปแบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นซึ่งรฟท.ได้ปรับปรุงเส้นทาง และขยายเส้นทางใหม่ๆโดยเฉพาะ ทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เชื่อมถึงหนองคายและท่านาแร้งที่สปป.ลาว ก่อนข้ามไปจีน เชื่อว่าหากรถไฟไทย-จีนแล้วเสร็จ ทั้งสองเฟส จะช่วยเสริมศักยภาพการขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น