ฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกแหล่งใหญ่สุดของประเทศจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะเข้าสู่ฤดูกาลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2566 โดยจะมีบริษัทใหญ่เริ่มเปิดรับซื้อเต็มอัตรา จากที่ผ่านมารอเนื้อทุเรียนให้ได้ตามกำหนดเพื่อรักษาคุณภาพ เพราะหากมีทุเรียนอ่อนเล็ดลอดออกสู่ตลาดผลกระทบจะย้อนกลับมาถึงชาวสวน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายว่า ในปี 2566 ให้เป็นปีแห่งทุเรียนคุณภาพ เพื่อรักษาตลาดส่งออกทุเรียนไทย จากข้อมูลการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-มี.ค. 66) มีการส่งออกทุเรียนทั้งหมด 4,430 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 68,751.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,609.68 ล้านบาท(จากปี 2565 ล่าสุด ไทยมีการส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 110,144.22 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีนอันดับ 1มูลค่า 106,038.47 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 96.27% ของการส่งออกโดยรวม)
ทั้งนี้เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู ผู้ประกอบการต้องเคร่งครัดในมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ มาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ และการตรวจ GMP Plusและ แนวทางการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก (PC) ผลไม้ไปจีน ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ สวพ.6เตรียมความพร้อมรับการตรวจประเมินระยะไกล ผ่านระบบ Video Conference จากสำนักงานการศุลกากรของจีน หรือ GACC อยู่เป็นระยะ
สำหรับข้อมูลราคาทุเรียน ณ วันที่ 5 เม.ย. 2566 ทุเรียนหมอนทองเกรด AB 140-150 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เกรด C 105-110 บาทต่อ กก. โดยทุเรียนสำหรับส่งออกการตรวจปล่อยจากด่านต้นทาง ณ ปัจจุบันไม่มีปัญหาอุปสรรค ในกรณีทุเรียนมีปริมาณมากขึ้น กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมความพร้อม โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่นายตรวจพืช เพื่อตรวจปิดตู้ จาก 30 คนเป็น 60 คน และขยายเวลาตรวจเปิดตู้ จากเวลา 20.00 น เป็น 22.00 น. หากผู้ประกอบการใดประสงค์ให้ตรวจหลังเวลา 22.00 น. ต้องแจ้งหัวหน้าด่านในพื้นที่ก่อนเวลา 18.00 น. เพื่อบริหารจัดการนายตรวจพืช
ทั้งนี้ระบบการยื่นขอ PC ผ่านระบบ E-phyto ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงระบบให้สามารถทำงานได้ตามปกติ และ ดีกว่าที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ ณ ด่านนำเข้าผลไม้ของจีน ทั้งด่านโมฮ่าน และโหย่วอี้กวน เปิดทำการตามปกติ ซึ่งสถานการณ์ด่านปลายทางประเทศจีน ปัจจุบันไม่มีการติดขัดของรถบรรทุกสินค้า เรื่องตู้สินค้า และสายเรือในปี 2566 ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเนื่องจากสถานการณ์โควิดของจีนคลี่คลายแล้ว และหลังจากทุเรียนภาคตะวันออกก็จะเข้าสู่ทุเรียนภาคใต้ ที่จะเริ่มฤดูกาลส่งออกในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมั่นในการทำงานของกรมฯ
ด้านนายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้า และส่งออกผลไม้ไทย เผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนเป็นต้นไปประเทศไทยเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียน บริษัทใหญ่จะเริ่มเปิดรับซื้อเต็มรูปแบบ ปัจจุบันมีทุเรียน มังคุดออกจากประเทศไทยโดยเฉลี่ยวันละ 100 ตู้ ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน สิ่งที่กังวลและเป็นปัญหาทุกปีคือเรื่องการขนส่ง ใน 2 เส้นทางคือ 1.เส้นทางชายแดนลาว-จีน และ 2. เส้นทางลาว-เวียดนาม-จีน
ทั้งนี้เส้นทางลาว-จีน ทางฝั่งคุนหมิง กับเมืองยูนนาน จะมี 2 เส้นทาง คือ จากเชียงของ-ด่านบ่อเต็น โดยทางรถยนต์ และอีกเส้นทางคือ ทางรถไฟลาว-จีน จากเวียงจันทน์ ไปบ่อเต็นแล้วทะลุเข้าคุนหมิง โดยเส้นทางรถยนต์เวลานี้ได้เริ่มวิ่งแล้ว ช่วงก่อนวันที่ 25 มี.ค. ค่าขนส่งทางรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อเที่ยว ปัจจุบันขึ้นมาเป็น 1.2 แสนบาท คาดจะค่อยๆ ปรับขึ้นไปถึง 1.5 -1.7 แสนบาทต่อเที่ยว ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้า และความแออัดของการจราจร ส่วนเส้นรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นเส้นทางที่มีอุปสรรคมากสุด และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
“เส้นทางขนส่งทางบกผลไม้ไทยไปจีนมี 6 เส้นทาง เส้นคุนหมิง- บ่อเต็น ขนส่งได้ประมาณ 150-200 ตู้ ด่านรถไฟผิงเสียงประมาณวันละ 35 ตู้ ด่านโหย่วอี้กวน ประมาณ 200 ตู้ เหอโข่ว ประมาณกว่า 100 ตู้ รวมแล้ว กว่า 500 ตู้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีไม่มีอุปสรรคปีนี้น่าจะสดใส ยกเว้นด่านมีปัญหา โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวนที่เราต้องไปเบียดกับทุเรียนที่มาจากเวียดนามที่ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ”
อย่างไรก็ดีสิ่งที่กังวลคือ จำนวนรถยนต์ไม่พอใช้ ยกตัวอย่างวันหนึ่ง 500 ตู้ จะต้องใช้รถประมาณ 4,000 คัน ที่จะไปส่งตามชายแดนเพื่อให้ทางจีนรับไป แต่ถ้าสามารถวิ่งสอดรับกันได้ดีอุปสรรคเหล่านี้จะหายไปดังนั้นฝากให้ผู้ค้าได้กระจายความเสี่ยงในเส้นทางต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,877 วันที่ 9-12 เมษายน พ.ศ. 2566