วันที่ 19 เมษายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อม ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีฯ ลงพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ พร้อมขอบคุณเกษตรกร ผู้ประกอบการล้ง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด
นอกจากนี้มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย – จีนสมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ที่ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรอย่างใกล้ชิด เข้มข้น เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกไปยังประเทศจีน โดยคาดว่าในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปี 2566 ที่จะมาถึงนี้จะสามารถส่งออกทุเรียนสด ปริมาณไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน มูลค่ากว่าแสนล้านบาท
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ตามประกาศจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ประกาศวันตัดทุเรียนหมอนทอง ประจำปี 2566 วันที่ 15 เมษายนหากจะตัดทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่กำหนด
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งแป้งทุเรียนตามมาตรการตรวจก่อนตัดจากสวน สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องแจ้งด่านตรวจพืช และ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ. 6) เข้าตรวจก่อนการตรวจปิดตู้ของด่านซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร โรงคัดบรรจุ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร โดย สวพ. 6 มีมาตรการร่วมกับ จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก เร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่สำคัญ มือตัดทุเรียน ต้องย้ำให้เข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเกษตรจังหวัดที่รับผิดชอบ ในการขึ้นทะเบียน นักคัด นักตัดทุเรียน
โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกับ ศูนย์วิจัยพืชสวนของกรมวิชาการเกษตร จัดอบรมนักตัดทุเรียนมืออาชีพโดยเปิดอบรมฟรีซึ่งการอบรมดังกล่าว ประสบความสำเร็จ ลดปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนได้ กรมวิชาการเกษตร จึงขอขอบคุณ มือตัดทุเรียนที่เข้ารับการฝึกอบรม รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดอบรมนักคัดนักตัดทุเรียนมืออาชีพ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ตรวจติดตามการแยกสีล้ง สีเขียว เหลือง แดง และวางแผนการเข้าตรวจตามประเภทที่ได้จัดเกรดไว้ล้งที่ได้เป็นสีเขียวหมายถึงล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กรมกำหนดและให้ความร่วมมือดีกับหน่วยงานและมีความเข้าใจกับแนวปฏิบัติ อาจจะลดการเข้าไปตรวจสอบ ส่วนสีเหลือง และแดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง และจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจ
ดังนั้นขอเชิญชวนให้ทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนดเพื่อเป็นสีเขียวซึ่งถือว่าเป็นชื่อเสียงของแต่ละแห่งด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกล้งช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อ ไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกา เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออก
“เกษตรกร ล้ง ชอบมาตรการเข้ม กรม โดยขอให้ขยายผลต่อ อย่าหยุด ถึงแม้จะผ่านวันเก็บเกี่ยว 15 เมษา ไปแล้วและขอให้ขยายโมเดลนี้ ไปยังทุเรียนใต้และทั่วประเทศ ที่สำคัญ เกษตร มือตัด ล้งสีเขียว /เหลือง ปีนี้ ให้ความร่วมมือดีมากเน้นย้ำคุณภาพกันเองเช่น ถ้ามีรถขนผลผลิตไม่ดีเข้ามาก็ไม่รับซื้อ นี่เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับฤดูส่งออกทุเรียน 2566”
นายระพีภัทร์ กล่าวย้ำตอนท้ายว่า “กรมวิชาการเกษตร” ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานทุเรียนเพื่อการส่งออก พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chainตามนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างจุดเด่นให้ทุเรียนไทยสามารถแข่งขันได้รักษาตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาดจีน ให้สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตในสวนเกษตรกร
แหล่งที่มาของทุเรียนจากสวน การคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช และกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ไปจนถึงด่านนำเข้าที่ประเทศจีนให้สามารถทวนสอบและติดตามข้อมูลในทุกขั้นตอนได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนไทย