นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นประมาณ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนจำนวนรวม 21 แห่ง ที่รวมกันมีความสามารถในการรองรับน้ำเสียรวม 407,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อันเนื่องมาจากปัญหาการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
ทำให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำบัดและถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจนกระทั่งเกิดปัญหาคุณภาพน้ำดังกล่าว และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เขตชุมชนเมือง
โดยเฉพาะในเขตเทศบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากปัญหาการบริการจัดการและการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่นอกเส้นท่อรวบรวมน้ำเสียไม่ได้รับการบำบัด ประกอบกับท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนที่เหมาะสม
ดังนั้น การติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย และการบริการจัดการที่ดีจึงมีความสำคัญในการผลักดันให้มีการบำบัดน้ำเสียที่ดีขึ้น และเพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) คพ.จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดจัดการฝึกอบรมครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมจำนวน 4 ครั้ง
ในกลุ่มภาคใต้ กำหนดจัดอบรมระหว่างวันที่ 20 –21 เมษายน 2566ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ แหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการจัดการน้ำเสียชุมชน
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิควิชาการในการดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งเป็นการเผยแพร่เครื่องมือสำหรับการจัดการน้ำเสียชุมชน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหา และอุปสรรค ในการจัดการน้ำเสียชุมชนจากกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยการอบรมในครั้งนี้มีเป้าหมายในการช่วยให้เกิดการจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่ดีขึ้นโดยลำดับ นายปิ่นสักก์ กล่าว