“จุรินทร์”สั่งอธิบดีกรมการค้าภายใน ยึด “อมก๋อยโมเดล” ช่วยเกษตรกรเชียงใหม่

28 เม.ย. 2566 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 13:56 น.

“จุรินทร์”ลุยงานไม่เลิก! สั่งอธิบดีกรมการค้าภายใน ขึ้นภาคเหนือใช้ “อมก๋อยโมเดล” ช่วยเกษตรกรอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 28 เมษายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นความสำเร็จโครงการอมก๋อยโมเดล

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อมก๋อยโมเดลเป็นนโยบายที่ตนมอบให้กับกระทรวงพาณิชย์รวมทั้งกรมการค้าภายในและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการนำนโยบายเกษตรพันธสัญญา หรือการทำสัญญาซื้อขายพืชผลการเกษตรล่วงหน้า ช่วยดึงราคาให้เกษตรกรขายพืชผลการเกษตรดีขึ้น มีตลาดล่วงหน้า ไม่ต้องปล่อยตามยถากรรม เรียกว่า “อมก๋อยโมเดล” ประสบผลสำเร็จดีมาก 


เริ่มเมื่อช่วงปี 63 ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดลต้นแบบ ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำให้ราคาพืชเกษตรหลายตัวราคาดีขึ้นมากเช่น หอมหัวใหญ่ ตอนราคาไม่ค่อยดี 8-9 บาท/กก. ปัจจุบัน 18 บาท/กก. กระเทียมสด ตอนราคาไม่ค่อยดี 9-12 บาท/กก. ปัจจุบัน 25 บาท/กก. หอมแดง ตอนราคาไม่ค่อยดี 7-8 บาท/กก. ปัจจุบัน 14-15 บาท/กก. 
 

ส้ม จาก 14-15 บาท/กก. ปัจจุบัน 40 บาท/กก.ลำไยลูกร่วง จาก 11-12 บาท/กก. ปัจจุบัน 17-18 บาท/กก. และลำไยส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ +42% มะม่วงน้ำดอกไม้ จาก 30 บาท/กก. ปัจจุบัน 65-70 บาท/กก. 

กะหล่ำปลี จาก 2-3 บาท/กก. ตอนนี้ 7 บาท/กก. แล้ว เป็นตัวอย่างของการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ตนมอบเห็นผลชัดเจนทำให้ราคาพืชเกษตรตัวเล็กหลายตัวดีขึ้น

“วันพรุ่งนี้กรมการค้าภายในโดยอธิบดีกรมการค้าภายใน (นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม ) จะเดินทางไปที่ อ.อมก๋อย เพื่อนำผู้ซื้อจากทั่วประเทศทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้กับพืชเกษตรสำคัญของ อ.อมก๋อย คือ มะเขือเทศพริก บุก ฟักทอง และกะหล่ำปลี 
 

ดำเนินการมา 2 ปี เข้าสู่ปีที่ 3 นำผู้ซื้อรายใหญ่ของประเทศ 9 ราย ราคาสูงกว่าราคาปัจจุบันเป็นราคานำตลาด เซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถึง 25,200 ตัน ช่วยดึงราคาให้เกษตรกรชาวอมก๋อยและพื้นที่อื่นๆในภาคเหนือ”

และช่วงเดือนต้นเดือนพฤษภาคม ได้มอบให้อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปเชียงรายอีกจุดหนึ่งด้วย เพื่อทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสับปะรดภูแล ช่วยทำราคาให้สับปะรดดีขึ้น ผลของการดำเนินการอมก๋อยโมเดล เริ่มปี 63 ดำเนินการจนเข้าปี 66 ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าช่วยเกษตรกรได้รวมทั้งหมด 400,000 ตัน สร้างมูลค่าให้เกษตรกรถึง 8,277 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป