ส่งออกไทยใช้สิทธิFTAlสูงต่อเนื่อง สวนทางเงินบาทแข็ง

03 พ.ค. 2566 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 04:14 น.

พาณิชย์เผย ส่งออกไทยแห่ใช่สิทธิFTA อย่างต่อเนื่องมูลค่ารวม 11,819.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตลาดอาเซียนยังครองแชมป์อันดับ 1 รองลงมาเป็น อาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-อินเดีย สวนทางค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2566 จำนวน 12 ฉบับ มีมูลค่ารวม 11,819.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 74.52%ถึงแม้การใช้สิทธิฯ ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2566 จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยยังคงสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าด้วยการใช้สิทธิ FTA ส่งออกสินค้าต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการส่งออกได้เป็นอย่างดี

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 ประกอบกับความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เริ่มเปิดประเทศหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงจากหลายกรอบความตกลงฯ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน และน้ำตาล

ส่งออกไทยใช้สิทธิFTAlสูงต่อเนื่อง  สวนทางเงินบาทแข็ง

(กรอบอาเซียน) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง และทุเรียนสด (กรอบอาเซียน-จีน) รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) และรถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 cc ขึ้นไป (กรอบไทย-ออสเตรเลีย) เป็นต้น กรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (มูลค่า 4,685.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 72.86% โดยเป็นการใช้สิทธิส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 1,338.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาเลเซีย มูลค่า 1,163.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเวียดนาม มูลค่า 999.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและฟิลิปปินส์ มูลค่า 735.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500 - 3,000 cc) และน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัสอื่นๆ เป็นต้น

อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) (มูลค่า 2,860.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 86.53% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง ทุเรียนสด สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ผลไม้สด (ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ฯลฯ) เป็นต้น

อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) (มูลค่า 1,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.21% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็นจนแข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช กุ้งปรุงแต่ง กระสอบและถุงทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน เป็นต้น

อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) (มูลค่า 941.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.60% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 cc ขึ้นไปและขนาด 1,000 - 1,500 cc ปลาทูน่าปรุงแต่ง และส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) (มูลค่า 821.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 66.61% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง สารประกอบออร์แกโน-อินออร์แกนิก โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์หรือของฮาโลเจเนเต็ดโอลีฟิน ในลักษณะขั้นปฐมอื่นๆ และฟอยล์อะลูมิเนียมมีความหนาไม่เกิน 0.2 มิลลิเมตร เป็นต้น

นอกจากการใช้สิทธิฯ จากความตกลงข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้สิทธิฯ ตามกรอบความตกลงอื่นๆ อีก ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) (มูลค่า 547.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 61.44% และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งออกไปออสเตรเลีย (มูลค่า 465.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 33.38%

สำหรับความตกลง RCEP ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯรวม 195.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 452.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น หัวเทียน ฟล็อก ผงสิ่งทอ และมิลเน็ป เป็นต้น