เปิด 5 อันดับ ยอดใช้สิทธิ FTA ดันส่งออกโตต่อเนื่อง

02 เม.ย. 2566 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 12:09 น.

กระทรวงพาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิฯ FTA ม.ค.พุ่ง รวม 5,399.38 ล้านดอลลาร์ พบ AFTA พุ่งสุด 2,081.46 ล้านดอลลาร์ ดันส่งออกโตต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือน ม.ค.66 มีจำนวน 12 ฉบับ มูลค่ารวม 5,399.38 ล้านดอลลาร์ โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 71.79%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงในหลายกรอบความตกลงฯ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน (กรอบอาเซียน) มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด (กรอบอาเซียน-จีน) รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) และรถยนต์ขนส่งบุคคลความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. (กรอบไทย-ออสเตรเลีย)

ทั้งนี้ กรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)  (มูลค่า 2,081.46 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 68.74% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯสูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500-3,000 ซี.ซี.) และน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่ บิทูมินัสอื่นๆ

สำหรับประเทศที่มีใช้สิทธิส่งออกไปคือ

  • อินโดนีเซียสูงสุดมูลค่า 618.32 ล้านดอลลาร์
  • มาเลเซียมูลค่า 508.66 ล้านดอลลาร์
  • เวียดนามมูลค่า 428.99 ล้านดอลลาร์
  • ฟิลิปปินส์มูลค่า 317.12 ล้านดอลลาร์

เปิด 5 อันดับ ยอดใช้สิทธิ FTA ดันส่งออกโตต่อเนื่อง ​​​​​​​

  • อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) (มูลค่า 1,208.83 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.53% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้สดอื่นๆ (ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ฯลฯ) และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง
  • อันดับ 3 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) (มูลค่า 487.23 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 72.97% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 ซี.ซี.ขึ้นไปและขนาด 1,000-1,500 ซี.ซี. ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และปลาทูน่าปรุงแต่ง
  • อันดับ 4 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) (มูลค่า 487.12 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.05% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็นจนแข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ชและกระสอบและถุงทำด้วยพลาสติก
  • อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) (มูลค่า 400.37 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.65% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ สารประกอบออร์แกโนอินออร์แกนิกอื่นๆ ลวดทองแดง โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์หรือของฮาโลเจเนเต็ดโอลีฟิน ในลักษณะขั้นปฐมภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้สิทธิฯ ตามกรอบความตกลงอื่นๆ ได้แก่

  • ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) (มูลค่า 276.92 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.92%
  • ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งออกไปออสเตรเลีย (มูลค่า 246.23 ล้านดอลลาร์) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 36.88%

สำหรับความตกลง RCEP มีการส่งออกไปยัง 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 97.04 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1,039% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.65 ที่ได้เริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น มันสำปะหลังเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง หัวเทียน ฟล็อก ผงสิ่งทอ และมิลเน็ป

การใช้สิทธิประโยชน์ข้างต้นเป็นข้อมูลภายใต้ FTA 12 ฉบับ จากจำนวนความตกลงที่มีอยู่ 14 ฉบับ ได้แก่

  •  เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
  •  ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
  •  ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA)
  •  ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
  • ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
  • ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)
  • ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA)
  • ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA)
  • ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู (TPCEP)
  • ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA)
  • ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA)

รวมถึงความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงฉบับล่าสุดของไทยที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้กับประเทศคู่ค้าเกือบครบทุกประเทศแล้ว โดยข้อมูลข้างต้นไม่ได้รวมถึงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ที่ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ในทุกรายการสินค้า และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (self-declaration)