นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 มาอยู่ที่ระดับ 55.0 โดยเป็นดัชนีที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือนเนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ
ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น และหากการเมืองมีเสถียรภาพสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วและเป็นที่ยอมรับ มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ พิจารณางบประมาณได้ตามกระบวนการ จะส่งผลดีกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ และความเชื่อมั่นของการลงทุน อาจทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้3.5-4%
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.6