ดัชนีเชื่อมั่นฟื้น สงครามยกระดับ เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง

23 เม.ย. 2566 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2566 | 05:31 น.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา)

โดยผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน ประกอบกับราคานํ้ามันปรับตัวลดลง ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

อย่างไรก็ดีดัชนีต่าง ๆ ข้างต้นยังอยู่ในระดับตํ่ากว่าปกติ  (ระดับปกติอยู่ที่ 100) แสดงให้เห็นว่าโดยลึก ๆ แล้วผู้บริโภคยังมีความกังวล และยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ แม้ความกังวลเกี่ยวกับราคานํ้ามัน ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ โควิด-19 จะคลายตัวลงแล้วก็ตาม

ท่ามกลางการเมืองไทยที่ร้อนระอุ พรรคการเมืองแข่งหาเสียงรับศึกเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหม่ ชูนโยบายประชานิยมบลั๊ฟ กันแหลกเพื่อเรียกคะแนนเสียง พรรคใหญ่ประกาศเสียงดัง หากได้เป็นรัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 5%

ดัชนีเชื่อมั่นฟื้น สงครามยกระดับ เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง

แต่หันมาดูความจริงกันบ้าง แค่ 3 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนช่วยกันผลักดันจะมีกำลังเพียงพอหรือไม่ เริ่มจากภาคการท่องเที่ยวที่ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 30 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 880,000 ล้านบาท รวมรายได้การท่องเที่ยวปีนี้ 2.38 ล้านล้านบาท (3 เดือนแรกนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6.46 ล้านคน สร้างรายได้ 2.56 แสนล้านบาท)

 ส่วนภาคการลงทุน ที่เป็นอีกเครื่องยนต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ ในปีนี้บีโอไอได้ตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 5-6 แสนล้านบาท (จากปี 2565 ขอรับส่งเสริม 2,119 โครงการ เงินลงทุน 664,630 ล้านบาท) ขณะที่ในขั้นตอนการออกบัตรส่งเสริมที่ถือเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดใน 1-2 ปีนี้ยังต้องลุ้นว่าจะลงทุนจริงมากน้อยเพียงใด

ขณะที่ภาคการส่งออก (มีสัดส่วนต่อจีดีพีไทยในปี 2565 กว่า 55%) ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวที่ 1-2 % (จากปี 2565 ไทยส่งออก 287,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ +5.5%) ท่ามกลางภาวะการส่งออกของไทย 5 เดือนล่าสุด (ต.ค. 65-ก.พ.66) ยังติดลบต่อเนื่องตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ฟากฝั่งของภาคเอกชนในการประชุม(ณ เดือน มี.ค.และเม.ย. 66) ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยจากเดิมคาดขยายตัว 1-2% เป็น -1.0% ถึง 0.0% ส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ส่งออกปีนี้เดิมไว้ที่ 1-2% แต่ออกมายอมรับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การส่งออกในสองไตรมาสแรกของปีนี้จะยังติดลบ และต้องลุ้นในครึ่งปี ซึ่งจะได้พิจารณาปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ สรท.มองยังมีปัจจัยบวกกับภาคการส่งออกของไทย เช่น ตลาดที่เป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายใหม่ที่เป็นโอกาสทางการค้าของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ อินเดีย ตะวันออกกลาง และค่าระวางเรือทั่วโลกลดลงสู่ภาวะปกติเท่ากับช่วงก่อนโควิด รวมถึงสถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอต่อการส่งออก

ส่วนปัจจัยลบ ยังมีอยู่มาก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ (Geopolitics) ในหลายคู่ของโลก ปัญหาต้นทุนด้านพลังงานที่ผันผวนตามสถานกาณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นต้น

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สอดคล้องกับที่นายเกรียงไกรเธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ที่ชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ยังเป็นปัจจัยเดิม ๆ แต่ที่ต้องจับตา และอาจเป็นจุดเปลี่ยนคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ล่าสุดประเทศฟินแลนด์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ อย่างเป็นทางการ ซึ่งฟินแลนด์มีชายแดนติดกับรัสเซียยาวกว่าพันกิโลเมตร สร้างความกังวลให้กับรัสเซียจากความสุ่มเสี่ยงที่ชาติสมาชิกนาโต้อาจมาใช้ฟินแลนด์ตั้งฐานขีปนาวุธ ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ทำให้รัสเซียต้องปรับยุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคงในแถบนี้ใหม่ทั้งหมด

 โดยรัสเซียได้ดึงเบลารุสที่เป็นประเทศพันธมิตรเข้าร่วมสงคราม และได้นำขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ไปติดตั้งในเบลารุส สร้างความไม่สบายใจให้กับชาติตะวันตกที่เป็นสมาชิกนาโต้ในแถบนั้นเช่นกัน จุดเปลี่ยนในครั้งนี้อาจนำไปสู่ “สงครามใหญ่” หลังฤดูหนาวผ่านไป

โดยฝ่ายพันธมิตรนาโต้ ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำได้ส่งรถถังต่อต้านอากาศยาน โดรนต่าง ๆ เข้าไปช่วยยูเครนชุดใหญ่ ส่วนรัสเซียก็เร่งผลิตอาวุธและกระสุนต่าง ๆ เตรียมไว้หากมีการเปิดศึก ดังนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้จุดจบ แต่มีทีท่าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อราคานํ้ามัน ราคาพลังงาน เงินเฟ้อสูงทั่วโลกกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้ ดังนั้นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยจึงยังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน และต้องลุ้นกันยาว ๆ ตลอดทั้งปีนี้