นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาไทยและมาเลเซียได้มีการหารือแบบทวิภาคีร่วมกัน ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อผลักดันการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้กับภาคเอกชน
และผลการหารือเป็นที่น่ายินดีกับภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงร่วมกันว่าจะนำเอาระบบการลงลายมือชื่อและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) มาใช้กับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน - จีน (ACFTA)
สำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียแทนแนวปฏิบัติปัจจุบันที่ใช้วิธีการลงลายมือชื่อและประทับตราแบบสดด้วยมือ ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซียได้ตกลงที่จะใช้ระบบ ESS ในการออก Form E โดยให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การใช้ระบบ ESS เครื่องพิมพ์จะพิมพ์ลายมือชื่อและตราประทับของผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือรับรองฯ ออกมาจากเครื่องพร้อมกับข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งจะปรากฏบนหนังสือรับรองฯ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติ ผู้ประกอบการสามารถเดินทางมารับเอกสารเพื่อนำไปใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ประเทศปลายทาง โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตราแบบสดบน Form E ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้กรอบ ACFTA มีการใช้ระบบ ESS ในการออกหนังสือรับรองฯ Form E
สำหรับการส่งออกไปจีนเท่านั้น (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564) โดยมาเลเซียจะเป็นประเทศภาคี ACFTA ลำดับที่สองที่ใช้ระบบดังกล่าว สำหรับประเทศภาคีอื่นภายใต้ ACFTA กรมการค้าต่างประเทศจะผลักดันการใช้ระบบ ESS อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สามารถใช้ ESS กับประเทศภาคีอื่น ๆ ได้ต่อไป ทั้งนี้ การออก Form E รูปแบบ ESS จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกในขั้นตอนการออกหนังสือรับรองฯ และลดอัตราการถูกศุลกากรประเทศปลายทางตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนาม โดยในปี 2563 – 2565 มีมูลค่าการขอใช้สิทธิ Form E สำหรับการส่งออกไปมาเลเซียประมาณ 113 ล้านบาท
โดยภายในปีนี้กรมมีเป้าหมายจะเปิดใช้งานระบบการออกหนังสือรับรองฯ รูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าระบบ SMART C/O ซึ่งถือเป็นการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รูปแบบ ESS ณ สถานที่ทำการของตนเองได้