เส้นทางรถไฟจีน-ลาว หนุนส่งออก “ทุเรียนไทย” ป้อนตลาดจีนอย่างไร

02 พ.ค. 2566 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2566 | 00:01 น.

ทางรถไฟจีน-ลาว กำลังกลายเป็น “เส้นทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการลำเลียงสินค้า ซึ่งรวมถึงราชาแห่งผลไม้อย่าง “ทุเรียน” เข้าถึงตลาดจีนอย่างสะดวกรวดเร็ว

 

ขบวนรถไฟผลไม้ บรรทุก ทุเรียน และมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ จีน เมื่อวันที่19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยรถไฟขบวนนี้มีต้นทางวิ่งมาจากแหลมฉบัง ท่าเรือสำคัญของไทย ถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น “ทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว

อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนว่า เมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะหลายปัจจัย อย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน

เปิด “เส้นทางขนส่งใหม่” สำหรับทุเรียนไทย

ทว่าปัจจุบันทุ เรียนไทยถูกขนส่งลำเลียงถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานภายในเพียง 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัยแสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เพลิดเพลินกับทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยได้เพิ่มขึ้น

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว กำลังกลายเป็น “ทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว (แฟ้มภาพซินหัว)

ด้าน นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย เขาหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2565 ครองสัดส่วนมากกว่า 96% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 3,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.06 แสนล้านบาท

บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว

วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ เปิดเผยกับซินหัวว่า ความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก

ความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด (แฟ้มภาพซินหัว)

การเปิดให้บริการของทางรถไฟจีน-ลาวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นับเป็นการ “เปิดเส้นทางใหม่” สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน

ซินหัวรายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของกนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทยไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2562 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปีนี้ (2566)

รวดเร็ว ตรงเวลา และยืดหยุ่น

บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกและขนส่งผลไม้มากกว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางอย่างจริงจัง หลังจากทดลองดำเนินงานมากว่า 1 ปี โดยนายพาน เจียวหลิง ซีอีโอของบริษัท กล่าวว่ามีการซื้อตู้คอนเทนเนอร์แบบห่วงโซ่ความเย็นสำหรับขนส่งสินค้าพร้อมติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ในปีนี้ ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งและเฝ้าติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์จากระยะไกล รวมถึงส่งข้อมูลโลจิสติกส์ให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

การขนส่งทางรางที่รวดเร็วและตรงเวลา ไม่เพียงรับประกันคุณภาพของทุเรียน แต่ยังลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทอีกด้วย

จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2565 ครองสัดส่วนมากกว่า 96% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย (แฟ้มภาพซินหัว)

ด้านนายฟ่าน ลี่กัง เจ้าของบริษัท กว่างโจว ฟ่านกั่วตัว เทรดดิง จำกัด (Guangzhou Fanguoduo Trading) ผู้สั่งซื้อทุเรียนที่จัดส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เปิดเผยว่า บริษัทกำลังวางแผนขยายตลาดทางภาคตะวันตกของจีน เช่น เฉิงตู และกุ้ยโจว

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางรางสามารถรวบรวมสินค้าเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้เหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งไทยและจีน

เฉินปิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายของบริษัท กว่างซี เซียนหนง อินเตอร์เนชันแนล เทรด จำกัด (Guangxi Xiannong International Trade) กล่าวว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัท ได้ปรับใช้ระบบเปิดจองล่วงหน้าและจำนวนคำสั่งซื้อเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการขนส่งสินค้าทางรางช่วยให้บริษัทสามารถจัดส่งสินค้าได้ทันเวลาตามคำสั่งซื้อจริง

เกี่ยวกับทางรถไฟจีน-ลาว

รถไฟจีน - ลาว เปิดให้บริการปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นับเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)" ของรัฐบาลจีน ครอบคลุมระยะทางยาวถึง 1,035 กิโลเมตรจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว และใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 8 ชั่วโมง โดยสถานีปลายทางสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร

เส้นทางนี้เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน - ยุโรป ทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและเศรษฐกิจภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง

 

ที่มา สำนักข่าวซินหัว