สหพัฒน์ เติมความเข้ม “สถานีขยะล่องหนฯ” ลดปริมาณขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อม

16 พ.ค. 2566 | 01:39 น.

สหพัฒน์ จับมือเครือข่ายพันธมิตร เติมต่อ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ปีที่ 3 เพิ่มความรู้บริหารจัดการขยะ 11 โรงเรียน ตอกย้ำ “ขยะมีมูลค่า”แลกสินค้าอุปโภคบริโภคและรีไซเคิลได้ 

“ชัยลดา ตันติเวชกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC กล่าวว่า สหพัฒน์ ยังคงร่วมโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 
  สหพัฒน์ เติมความเข้ม “สถานีขยะล่องหนฯ” ลดปริมาณขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อม

พร้อมเพิ่มความเข้มข้นด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน ปรับเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคให้ตรงความต้องการ เพื่อเชิญชวนให้คนในขุมชนร่วมแคมเปญ “เก็บ แยก แลก เร๊ววว” ที่รณรงค์ให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกสิ่งของอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือลดค่าครองชีพ

นอกจากนี้ ยังสอนการกำจัดขยะให้ถูกวิธี และนำขยะเหลือทิ้งมา DIY เพื่อให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของสหพัฒน์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

 

“สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” เป็นโครงการลูกของ โครงการ Care the Whale “ขยะล่องหน” ที่เริ่มดำเนินงานเมื่อปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตรกว่า 40 องค์กร ตั้งต้นจากชุมชนย่านรัชดาภิเษกขยายสู่พื้นที่นอกย่านทั่วกรุงเทพฯ โดยปีนี้สหพัฒน์ยังสานต่อโครงการ โดยร่วมมือกับ วัดจากแดง ตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) 

ในปีที่ 3 นี้ สหพัฒน์ร่วมมือกับโรงเรียนในชุมชน 11 แห่ง ให้ความรู้เรื่องขยะและการคัดแยกขยะกับนักเรียนและเน้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติในปีนี้ โดยให้โรงเรียนดำเนินการคัดแยกขยะและนำมาส่งที่วัดจากแดง เพื่อนำขยะไปแปรรูปเป็นวัสดุในการสร้างอาคารเรียนพระไตรปิฎกที่วัดจากแดง หรือนำวัสดุขยะมาทำให้เกิดประโยชน์ โรงเรียนที่นำวัสดุขยะมาแลกกับสถานีขยะล่องหน ทางสหพัฒน์ได้สนับสนุนสินค้าบริโภคที่นำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับมื้ออาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่นำไปใช้ประโยชน์ภายในโรงเรียน 
 

สำหรับผลการดำเนินงาน “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการแยกขยะไปแล้ว 24,494 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟรุตพริ้นท์ได้ 38,519.75 KgCo2e หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 4,279 ต้น

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,886 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566