นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงต้องดูให้ดี และคงไม่ง่ายนัก เพราะเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อนายจ้างแน่นอน
นายธนิต ระบุว่า ในฐานะตัวแทนองค์การนายจ้าง คงไม่ได้มองแค่นโยบายของพรรคก้าวไกล เพราะทั้งสองพรรคที่ได้คะแนนนำ คือ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ก็ชูนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำสูงทั้งสองพรรค นั่นคือ
พรรคก้าวไกล มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน และทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกิน ต้องได้ OT
พรรคเพื่อไทย มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และ เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย
ทั้งสองพรรคหากเป็นรัฐบาลทิศทางของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องคำนึงว่าเรื่องของการใช้ค่าจ้างเป็นกลไกให้เศรษฐกิจเติบโต หรือเพิ่มกำลังการซื้อนั้น จะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ และในอีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของนายจ้างรายอย่างแน่นอน
“ในจำนวนผู้ประกอบทั่วประเทศกว่า 90% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอี ความสามารถที่เขาจะจ่ายค่าแรงให้ได้ ถือว่ามีข้อจำกัด เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางเหมือนกัน และเมื่อค่าจ้างสูงข้าวของก็มีราคาแพงขึ้นไปด้วย แล้วถ้าจะส่งออกแล้วจะแข่งได้หรือไม่ นี่ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ที่สุดแล้วนายจ้างจะอยู่ไม่ได้”
นายธนิต ยอมรับกับฐานเศรษฐกิจว่า ในเมื่อพรรคการเมืองหาเสียงมาแล้วกเข้าใจได้ว่าเป็นนโยบาย แต่เมื่อมาแปลงเพื่อใช้ปฏิบัติจริงต้องเข้าใจบริบทหลาย ๆ อย่างด้วย โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาจะเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับจำนวนมาก
ส่วนถ้าจะทำจริง ๆ ผู้ประกอบการเองก็มองว่า อยากให้ค่อย ๆ ปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจะมีความเหมาะสมมากกว่า เพื่อให้มีเวลาหายใจ และมีเวลาปรับตัวได้ทัน เช่นเดียวกับการส่งเสริมเงินทุนในเครื่องมือเครื่องจักรด้วย
นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงนั้น อย่าลืมว่ายังต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการไตรภาคี คือ รัฐ ลูกจ้าง และเอกชน ซึ่งจะมีการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับภาคต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจขึ้นค่าแรงด้วย
“การขึ้นค่าแรงไม่เหมือนมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐใช้เงินงบประมาณ เพราะนี่คือเงินของนายจ้าง แม้ว่าจะเข้าใจนโยบายหาเสียงแต่เมื่อถึงเวลาเข้ามาบริหารประเทศแล้วต้องมานั่งคุยกันว่าอัตราเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมที่สุด และลูกจ้างเองก็ไม่ได้คคาดหวังว่าจะขึ้นสูงขนานนั้นหรอก และอย่าลืมว่าแรงงานต่างด้าวก็ได้ด้วย”