ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสัญจร ในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดตรัง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อทิศทางการเมืองไทย ระหว่างการสัญจรภาคใต้ว่า หอการค้าฯ มองผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว และความต้องการของประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศในการอยากเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานนับจากนี้ ขณะเดียวกันกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ก็มีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางที่ดีโดยสามารถที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันกฎหมายที่สำคัญต่าง ๆ
ทั้งนี้ข้อกังวลของหลายส่วน ที่มีต่อการรวมเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงนั้น หอการค้าฯ เห็นว่าในช่วงระหว่างนี้ยังสามารถรวบรวมเสียงจาก ส.ส. เข้ามาเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระแสที่อยากให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เข้ามาร่วมโหวตให้การสนับสนุนนั้น หอการค้าฯมองว่า หากพรรคแกนนำได้มีการนำเสนอประเด็นและหลักการให้มีความชัดเจน เน้นสร้างความเข้าใจเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เชื่อว่า ส.ว. จะมีการพิจารณา และให้การสนับสนุน
“ทุกฝ่ายห่วงว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงจะเป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายหลังผลการเลือกตั้งออกมากระแสของสื่อทั้งไทยและต่างประเทศต่างนำเสนอผลการเลือกตั้ง และแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลไปในทิศทางที่ดี”
ขณะที่มุมมองภาคธุรกิจปัจจุบันยังมีความรู้สึกไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนว่าทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร สะท้อนได้จากทิศทางของตลาดหุ้นที่ยังไม่ได้ตอบสนองต่อผลการเลือกตั้ง เป็นความกังวลที่หอการค้าฯเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด
สำหรับนโยบายของว่าที่พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วม ที่หลายฝ่ายได้รับทราบกันมาแล้วนั้น ส่วนหนึ่งได้เห็นภาพของนโยบายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย นโยบายด้านเศรษฐกิจปากท้อง การเพิ่มสวัสดิการประชาชน และนโยบายการศึกษาที่มีความโดดเด่น และเชื่อว่าจะตอบโจทย์สถานการณ์ของประเทศที่กำลังต้องการแรงเสริมเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่าที่คาดการณ์
ส่วนการวางตัวบุคคลากรที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและทีมงานต่าง ๆ คิดว่ามีความน่าสนใจและจะได้เห็นทีมบริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ ๆ ผสานกับบุคลากรที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการเมือง การบริหารธุรกิจ ของสองพรรคแกนนำ
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นหลังจากรัฐบาลสามารถจัดตั้งได้ คือ 1.การลดต้นทุนในภาคธุรกิจ และการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ 2.นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู SME Startup ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อ 3.นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 4.เดินหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกิดความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส
นายสนั่นกล่าวอีกว่า ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสัญจร ในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดตรัง โดยหอการค้าไทย และหอการค้าภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ได้มีการหยิบยกประเด็นข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ โดยเห็นว่าการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนได้อย่างง่ายขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเครดิตบูโร และเครดิตสกอริ่ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูและขยายกิจการได้
นอกจากนี้มีข้อเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการขึ้นค่าแรงซึ่งภาคธุรกิจยังเห็นว่าจำเป็นต้องใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคีที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด เข้ามามีส่วนกำหนดค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และไม่เป็นภาระด้านต้นทุนของภาคธุรกิจ
ที่ประชุมยังมีข้อกังวลถึงการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งหากยืดเยื้อถึงสิงหาคม อาจจะกระทบต่อกระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งจะทำให้การอนุมัติงบประมาณอาจจะลากยาวส่งผลให้กว่าจะได้ใช้งบประมาณอาจจะถึงเดือนมีนาคมปีหน้า
ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังมีแผน จัดประชุมคณะกรรมการบริหารสัญจรในอีก 4 ภาคทั่วประเทศเพื่อรับฟังข้อเสนอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละภาค เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือภาคธุรกิจทั่วประเทศต่อไป