สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน และนัยต่อเศรษฐกิจไทย
การแยกห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มต้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ จีน ตั้งแต่กลางปี 2561 ยังไม่มีทีท่าจะลดความรุนแรงลง
ในทางกลับกัน ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น วันนี้ สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายอย่าง Chip and Science Act เพื่อไม่ให้จีนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ โดยห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐอเมริกาจำหน่ายเครื่องมือ เครื่องจักร และวัตถุดิบสำคัญ ให้กับจีน
รวมไปถึงห้ามไม่ให้วิศวกรและแรงงานมีฝีมือต่าง ๆ ทำงานให้กับจีน ปรากฏการณ์การแยกห่วงโซ่อุปทานนี้ นำไปสู่คำถามว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็น Game Changers กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังเปิดโอกาสให้ไทย และ อาเซียน เข้าไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกหรือไม่ อย่างไร
ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งศึกษาปรากฏการณ์การแย่งห่วงโซ่อุปทาน และประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
โครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์นโยบาย สถานการณ์ และแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับการแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ ไทย ในด้านการผลิต การค้า การลงทุน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
และเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการกำหนดแนวทางของประเทศไทย ในการรับมือ และใช้ประโยชน์จากการแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด
ท้ายที่สุด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ทราบสถานการณ์ และแนวโน้มของการแยกห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการรับมือ ปรับตัว และ วางกลยุทธ์จากโอกาสทางการลงทุน และการค้าของไทยในอนาคต
โครงการศึกษาฯ ได้ติดตามสถานการณ์การแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน อย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ทำการวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและไทย เนื่องจากภาคการผลิตของไทยต่างเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐอเมริกา และ จีน
โดยศึกษาผ่านองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของโลก ร่วมกับการวิเคราะห์แนวโน้มการค้าและแผนผังการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
และรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านการสัมภาษณ์และระดมสมอง เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่รอบด้าน และนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ให้ไทยได้ประโยชน์ท่ามกลางกระแสการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ การศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้า