นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในฐานะเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ว่า
โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9
“ที่ผ่านมาพบว่า แนวเส้นทางดังกล่าวประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง”
รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า กทพ.ได้ว่าจ้างบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมฯออกแบบเบื้องต้น รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และจัดทำรายงานตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 (PPP) ในโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 34,028 ล้านบาท เบื้องต้น กทพ.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะนำงบประมาณใดมาดำเนินการโครงการฯ ซึ่งมีระยะเวลาศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2566
ทั้งนี้โครงการฯจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในเดือนสิงหาคม 2567 และดำเนินการขอใช้พื้นที่โครงการฯภายในปี 2566-2568 โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568-2573 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2573
ขณะเดียวกันจากการศึกษาโครงการฯ พบว่าแนวเส้นทางที่เหมาะสมคือ แนวเส้นทางที่ 3 ซึ่งมีรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน
ส่วนทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยตลอดแนวสายทางของโครงการฯจะใช้พื้นที่ในเขตทางเดิมของกทพ. ทำให้ไม่มีการเวนคืนที่ดินของเอกชน
สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ในระยะห่าง 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวสายทางของโครงการโดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง
อย่างไรก็ตามหากโครงการฯแล้วเสร็จจะทำให้สภาพการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน รองรับการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในอนาคต