สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 โดยนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ “มูเตลู” โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ
โดยระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงความเชื่อและความศรัทธากำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประเทศไทยเรียก การท่องเที่ยวลักษณะนี้ว่า “มูเตลู” ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศจากความหลากหลายของสถานที่มูฯ และความเชื่อของคนไทยที่มีอยู่
แม้มูเตลูจะเป็นคำเฉพาะที่ถูกใช้ในประเทศไทยเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวมูเตลูอาจเทียบได้กับ การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-Based Tourism) ของต่างประเทศ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแสวงบุญ และ การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism)
ตลาดท่องเที่ยวเชิงศรัทธาทั่วโลก 4 แสนล้าน
จากรายงานของ Future Markets Insight พบว่า การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือคิดเป็น 465,800 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 40,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2576 หรือ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายใน 10 ปี
สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวฯ ของประเทศไทย จากการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า เฉพาะการแสวงบุญสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบมากถึง 10,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปี 2562
ขณะที่การท่องเที่ยวสายมู ไม่ได้มีเพียงการแสวงบุญ หรือการเยี่ยมชมวัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งของและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะหลัก คือ
ลักษณะแรก คือ มูเตลูที่เป็นสถานที่ โดยอาจแบ่งออกได้ 3 รูปแบบหลัก ดังนี้
1.วัด โบสถ์ มัสยิด
กรณีของไทย วัดถือว่ามีจำนวนมากที่สุด โดยมีอยู่ในทุกภูมิภาค จากข้อมูลกองพุทธศาสนสถาน ปี 2565 ไทยมีวัดทั่วประเทศ กว่า 43,005 แห่ง โดยมีตัวอย่างวัดไทยที่ชาวต่างชาตินิยมมากราบไหว้บูชา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เนื่องจากเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์
2.ศาลเจ้าและเทวสถาน
เทวสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทย คือ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ ซึ่งเป็น สถานที่ขอพรยอดนิยมของนักท่องเที่ยงชาวจีน ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายพันล้านบาท รวมทั้งอุทยานพระพิฆเนศ จังหวัดนครนายก ที่เป็นหนึ่งในสถานที่ประดิษฐานพระพิฆเนศ ปางเสวยสุขที่ได้รับการยกย่องจากเลขาธิการศาสนสัมพันธ์ฮินดูโลกว่าเป็นพระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
3. รูปจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อาทิ ศาลหลักเมือง หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่มีอยู่ทุกจังหวัด หรือรูปปั้นไอ้ไข่ ซึ่งมีผู้สนใจไปกราบไหว้เป็นจำนวนมาก
ลักษณะที่สอง มูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ มีดังนี้
1. เครื่องรางของขลัง
โดยเฉพาะพระเครื่อง ซึ่งเป็นวัตถุมงคล ที่สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นพุทธ (พุทธศิลป์) ที่อยู่คู่ประเทศไทยมานานนับ 2,000 ปี ปัจจุบัน มีชาวต่างชาติให้ความสนใจพระเครื่องมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นตลาดพระเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสำนักข่าว South China ระบุว่า ตลาดพระเครื่องของไทยมีเงินหมุนเวียนในแต่ละปีมากกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีการนำเครื่องรางของขลังที่ได้รับการปลุกเสก มาสร้างแบรนด์สินค้าสำหรับเช่าบูชาหรือใช้เป็น เครื่องประดับ
2. พิธีกรรม
อาทิ การสักยันต์ หนึ่งในงานศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยนำเอาความเชื่อ และความศรัทธามาสร้างเป็นลวดลายการสักที่สามารถตอบโจทย์ผู้ที่มีความต้องการด้านโชคลาภ แคล้วคลาด และปลอดภัยพ้นจากอันตรายต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาทิ นักกีฬาทีมชาติไทย นักแสดงฮอลลีวูด นางแบบชื่อดังจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาสักยันต์ที่ไทย
แนะแนวทางบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตามการนำศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสายมูเตลูมาเป็นเครื่องมือในการดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ และการส่งเสริมที่เหมาะสม ดังนี้
1. กำหนดนโยบาย/แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจนของภาครัฐ
2. พัฒนากลยุทธ์การตลาดมูฯ ด้วยการสร้าง Branding ที่ครอบคลุม บุคคล และกิจกรรมสายมูฯ การสร้าง Branding เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าและบริการ น่าจดจำและมีคุณค่ามากขึ้น อีกทั้งยังช่วย ดึงดูดสื่อและ influencer ให้เข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย
3. บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทั้งสถานที่ท่องเที่ยว การบริหารจัดการสถานที่ทั้งในเชิงการพัฒนาและเชิงธุรกิจ ส่งเสริมบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่น ดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ให้มีมาตรฐาน ดึงสถาบันการศึกษา นำนักศึกษาเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ