นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนารับฟังความเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า โครงการนี้จัดทำเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารของระบบราง
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว เบื้องต้นโครงการดังกล่าวมีกระบวนการศึกษาใช้ระยะเวลา 12 เดือน คาดแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ทั้งนี้การคิดค่าแรกเข้าในอนาคตควรเรียกเก็บครั้งเดียว อาทิ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) หากต้องจ่ายค่าแรกเข้าหลายครั้งมองว่าไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 12-17 บาท ขึ้นอยู่กับสัญญาสัมปทานที่กำหนดไว้ ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าโดยสารใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะนำมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สายสีเทา สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีเขียวต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ และสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
“ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มต้องดูก่อนว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) การขนส่งทางราง จะออกก่อน หรือจะสิ้นสุดคดีก่อน และรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) หรือ M-Map 2 ซึ่งจะไม่มีการบังคับใช้กับสัมปทานเก่าที่มีการลงนามไปแล้ว”
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ด้านการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่นี้ กรมฯ ได้เตรียมข้อมูลแล้ว แต่ต้องรอให้ ร่าง พรบ.การขนส่งทางราง พ.ศ. … ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎร์ก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วย กรมฯ จะเสนอเรื่องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใน 60 วันหรือ 2 เดือน ซึ่งจะเสนอทันในปีนี้ หลังจากนั้นต้องรอให้ ครม. เสนอเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎร์พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งสามารถเริ่มโหวตในวาระที่ 2 ต่อได้เลย เพราะวาระที่ 1 ผ่านการพิจารณาแล้ว โดยในส่วนของวาระที่ 2-3 จะเป็นขั้นตอนการโหวตพิจารณาว่าร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ต่อไป
นอกจากนี้เรื่องนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของพรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย กำหนดไว้ที่ 20 บาทตลอดสาย และพรรคก้าวไกล 15-45 บาท นั้น มองว่าแต่ละนโยบายยังไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจนว่า ค่าโดยสารดังกล่าว จะช่วยเหลือการเดินทางสำหรับคนกลุ่มใด อาทิ ชนชั้นกลาง คนทำงาน ผู้พิการ และผู้มีรายได้น้อย การสนับสนุนมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน และรัฐต้องอุดหนุนเท่าไหร่ จึงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง
“มองว่านโยบายของแต่ละพรรคที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมารอดูรายะเอียดร่วมกันอีกครั้ง โดยเบื้องต้นกรมฯ ได้ศึกษาการใช้งานของทุกกลุ่มไว้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกำหนดเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันช่วงวันจันทร์-ศุกร์ มีผู้ใช้บริการด้วยระบบรางทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านคนต่อเที่ยวต่อวัน ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ อยู่ที่ 8.9 แสนคนต่อเที่ยวต่อวัน”